นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินมาตรการเพื่อรองรับกฎระเบียบสหภาพยุโรปว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการประมง หรือ IUU ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา โดยจากการติดตามและประเมินสถานการณ์นำเข้าและส่งออกสินค้าประมงของไทยกับสหภาพยุโรปหลังจากเริ่มใช้กฎระเบียบ IUU ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม 2553
โดยเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของ 2 ปีย้อนหลังในภาพรวม พบว่า ยังมีผลกระทบไม่มากนักเนื่องจากการนำเข้าและส่งออกสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์โดยส่วนใหญ่จับก่อนวันที่กฎระเบียบ IUU จะมีผลบังคับใช้ โดยปริมาณส่งออกลดลงประมาณ 4% และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 2% (ปริมาณการส่งออก 96,460 ตัน มูลค่า 12,739 ล้านบาท ) แบ่งเป็น สินค้าอาหารทะเลกระป๋อง มีการส่งออกทรงตัวเท่าๆ กับ 2 ปีที่ผ่านมาโดยมีมูลค่ารวม 5 เดือนประมาณ 4,000 ล้านบาท สินค้าหมึก มีปริมาณการส่งออกลดลงประมาณ 14.5% คิดเป็นมูลค่า 1,730 ล้านบาท จากเดิมในปี 2552 มูลค่า 1,800 ล้านบาท
ทั้งนี้ หมึกสดแปรรูปมีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้น 83.7% คิดเป็นมูลค่า 160 ล้านบาท จากเดิมในปี 2552 มูลค่า 100 ล้านบาท สินค้าปลาทะเล มีปริมาณการส่งออกลดลง 53.8% มูลค่า 906 ล้านบาท จากปี 2552 มูลค่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากไม่มีการส่งออกสินค้าปลาทูน่าครีบเหลืองแช่แข็งไปสหภาพยุโรปในช่วงเวลาดังกล่าว จากที่ในปี 2552 มีการส่งออกถึง 8 พันตัน สินค้ากุ้ง มีปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 73% มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาทในส่วนกุ้งกระป๋องซึ่งใช้วัตถุดิบจากการจับมีปริมาณเพิ่มขึ้น 36% มูลค่า 132 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2552 มีมูลค่า 135 ล้านบาท
สำหรับปลาทูน่า ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก เช่น ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และปาปัวนิวกินี เป็นต้น ขณะนี้ยังพบว่ายังไม่มีผลกระทบมากนักเนื่องจากเป็นการจับก่อนที่กฏระเบียบ IUU จะมีผลบังคับใช้
แต่อย่างไรก็ตาม กรมประมงจะมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ผลกระทบจากกฎระเบียบ IUU อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มมีผลต่อปริมาณการนำเข้าและส่งออกอย่างชัดเจนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน จากมาตรการดำเนินการเพื่อรองรับกฎระเบียบสหภาพยุโรปว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้งและขจัดการประมง IUU โดยใช้งบประเมินดำเนินการจำนวน 32 ล้านบาทเพื่อดำเนินการใน 6 กิจกรรมหลัก (1ม.ค.-25 มิ.ย.53) มีผลความคืบหน้าดังนี้
การตรวจรับรองสัตว์น้ำขึ้นท่าและการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ โดยขณะนี้กรมประมงได้ทำการตรวจสต็อกสัตว์น้ำและสินค้าที่โรงงานมีอยู่ก่อนวันที่ 1ม.ค.53 แล้วเสร็จแล้วจำนวนทั้งสิ้น 124 โรงงาน และได้ออกเอกสารยืนยันสัตว์น้ำจับก่อนวันที่ 1ม.ค.53 ให้แก่โรงงานที่ร้องขอจำนวน 102 โรงงาน รวม 4,895 ฉบับ และออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ สำหรับสัตว์น้ำที่จับหลังวันที่ 1 ม.ค.53 ไปแล้วอีก 1,264 ฉบับ,
การควบคุมการทำประมงให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ IUU โดยการแจกจ่ายสมุดบันทึกการทำการประมงให้เรือประมงแล้วจำนวน 4,876 ลำ และการจัดหน่วยเคลื่อนที่โมบายยูนิตทำการจดทะเบียนเรือประมงได้จำนวน 2,472 ลำ และอาชญาบัตรทำการประมงจำนวน 700 ลำ จากเป้าหมายที่จะดำเนินการทั้งสิ้น 7,000 ลำ, การปรับปรุงสุขอนามัยเรือประมงและท่าเทียบเรือประมง ซึ่งขณะนี้กรมประมงได้ทำการคัดเลือกท่าเทียบเรือที่มีการใช้ในการขึ้นสัตว์น้ำส่งออกไปยุโรปได้ครบจำนวน 64 ท่ากระจายตามจังหวัดต่างๆ 22 จังหวัด และดำเนินการคัดเลือกท่าเทียบเรือที่มีศักยภาพในการปรับปรุงในปี 54 ได้ทั้งสิ้น 17 ท่าแล้ว เหลือสำรวจอีก 3 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช เพชรบุรีและสมุทรสาคร ก็จะครบตามเป้าหมาย,
ศูนย์ข้อมูลตรวจสอบรับรองการจับสัตว์น้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดจ้างจัดทำระบบเครือข่ายข้อมูลฯ, กรมประมงได้จัดชุดเคลื่อนที่เพื่อประชุม พบปะผู้ประกอบการแพปลา เพื่อทำความเข้าใจและขอความร่วมมือปฏิบัติตามกฏระเบียบ IUU อย่างต่อเนื่องแก่ชาวประมง โดยเฉพาะปัญหาเรือประมงมีอาชญาบัตร และการทำประมงโดยเครื่องมือที่ไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในอาชญาบัตร ทำให้สัตว์น้ำที่จับได้ไม่สามารถบันทึกลงในสมุดบันทึกการทำประมงที่ได้รับ และไม่สามารถบันทึกลงในฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่กำหนดไว้ได้ และ กรมประมงได้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ เพื่อสรุปปัญหาและอุปสรรคและวางแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ จากการประกาศใช้กฎระเบียบ IUU ทุกสัปดาห์