ก.เกษตรฯ ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยปลูกยางพารา สร้างอาชีพและเพิ่มรายได้

ข่าวทั่วไป Monday July 12, 2010 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี (พ.ศ. 2553 — 2555) และการส่งเสริมต่อเนื่อง 6 ปี (พ.ศ. 2556 — 2561) โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 800,000 ไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 150,000 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 500,000 ไร่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 150,000 ไร่ ว่า นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยที่ไม่เคยมีสวนยางมาก่อน ได้ปลูกยางพาราเพื่อเพิ่มรายได้แล้ว ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรในพื้นที่แห่งใหม่ที่มีศักยภาพในการปลูกยางพารา มีทางเลือกในการประกอบอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งช่วยส่งเสริมการสร้างงานในท้องถิ่น ลดการเคลื่อนย้ายแรงงานจากชนบทเข้าสู่เมือง ตลอดจนเป็นการส่งเสริมพื้นที่การปลูกป่า และช่วยฟื้นฟูรักษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ที่ดีด้วย

นอกจากนี้ คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการประมาณ 80,000 — 160,000 ราย (เฉลี่ยระหว่างรายละ 5 -10 ไร่) มีรายได้คิดเป็นมูลค่า 112,000 — 224,000 บาท/ราย/ปี ก่อให้เกิดการสร้างงานในท้องถิ่น โดยมีแรงงานภาคการเกษตรไม่น้อยกว่า 100,000 คน และผลผลิตยางธรรมชาติของประเทศเพิ่มขึ้น นับจากปี 2560 เป็นต้นไป จำนวน 222,400 ตันต่อปี มูลค่าประมาณ 22,240 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ภาครัฐจะมีรายได้จากการเก็บเงินจากผู้ส่งยางออกนอกราชอาณาจักร (Cess) เพิ่มขึ้นประมาณ ปีละ 311 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะใช้เป็นทุนสงเคราะห์ชาวสวนยางต่อไป นายศุภชัย ได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์การพัฒนายางพาราปี 2553 — 2556 กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจกระบวนการผลิตยางแก่เกษตรกรผู้ปลูกยาง ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และพัฒนาการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 250 ก.ก./ไร่/ปี เป็น 300 ก.ก./ไร่/ปี

อีกทั้ง จะส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ เพื่อลดการส่งออกยางดิบไปต่างประเทศ และเป็นการเพิ่มมูลค่ายางพาราให้สูงขึ้น รวมทั้งการปรับอัตราเก็บเงินจากผู้ส่งยางออกนอกราชอาณาจักร (Cess) ตลอดจนการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้กรีดยางอีกด้วย อนึ่ง ปัจจุบันจังหวัดมุกดาหารมีสวนยางเปิดกรีด 17,000 ไร่ ให้ผลผลิตปีละ 5 พันกว่าตัน นำรายได้เข้าจังหวัดปีละไม่ต่ำกว่า 350 ล้านบาท และในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ยางที่ปลูกตามโครงการปลูกยางล้านไร่จะเริ่มให้ผลผลิต ปริมาณยางพาราจะ เพิ่ม3-4 เท่า มูลค่ายางในจังหวัดมุกดาหารจะเพิ่มถึง 1 พันล้านบาท ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป

อนึ่ง ตามที่นโยบายของรัฐบาลที่จะเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ได้พิจารณาผลักดันโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยปลูกยางพารา โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ ระยะที่ 3 พ.ศ. 2553 — 2555 ตามพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง พ.ศ. 2503 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2530 มาตรา 21 ทวิ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 800,000 ไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือ 150,000 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 500,000 ไร่ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ 150,000 ไร่

ทั้งนี้ สามารถปรับเปลี่ยนเป้าหมายของโครงการได้ตามความต้องการของเกษตรกรในแต่ละภาค พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรเป็นหน่วยงานจัดการควบคุมมาตรฐานพันธุ์ยางที่จะใช้ในการส่งเสริม และให้เข้มงวดในเรื่องมาตรฐานปุ๋ยสำหรับสวนยาง ส่วนสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) จะเป็นหน่วยงานเจ้าของเรื่องในการขอรับการสนับสนุนคาร์บอนเครดิต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ