นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สศอ.ดำเนินการผลักดันโครงการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ทั้งระบบภายใต้กรอบ ปี 2553-2557 (ระยะที่ 2) โดยรัฐบาลได้เห็นชอบงบประมาณสนับสนุน 1,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ขของไทยให้สูงขึ้นไปอีก จากเดิมที่เคยเป็นผู้นำเข้าแม่พิมพ์ปีละไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทให้กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกแม่พิมพ์เฉลี่ยให้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาดังกล่าว โดยจะค่อยๆลดการนำเข้าปีละ 300 ล้านเป็นอย่างน้อย สร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ ได้ปีละ 1,800 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการวางยุทธศาสตร์ลดการนำเข้าขยายสัดส่วนการส่งออกที่ต่อเนื่องจากระยะที่ 1
ขณะเดียวกันจะได้มีการพัฒนาช่างเทคนิคและวิศวกร เพื่อก้าวสู่โรงงานโดยตรง จำนวน 660 คน ซึ่งบุคลากรในจำนวนนี้จะมีขีดความสามารถถึงขั้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและพัฒนาเทคโนโลยีสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้งมุ่งเน้นที่จะพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะในระดับรองลงมาให้มีความรู้ และเพิ่มพูนทักษะให้ชำนาญขึ้นอีกจำนวน 3,525 คน และเชื่อมโยงไปยังสถาบันการศึกษา เพื่อผลิตบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ตั้งเป้าไว้ 5 แห่ง นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปสู่การผลิตผลงานวิจัยร่วมระหว่างผู้เชี่ยวชาญและโรงงานไม่น้อยกว่า 100 โครงการต่อปี และมีการพัฒนาระบบการจัดการในโรงงานแม่พิมพ์อีกไม่น้อยกว่า 145 แห่ง
"การดำเนินโครงการ ระยะแรก 6 ปี (2547-2552) ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งได้มีการพัฒนาบุคลากร ด้านช่างเทคนิคแม่พิมพ์ไปแล้วกว่า 6,600 คน รวมถึงการยกระดับการพัฒนาแท่นพิมพ์ให้มีประสิทธิภาพทดแทนการนำเข้าได้อย่างน่าพอใจ ช่วยให้ตัวเลขการนำเข้าแม่พิมพ์ค่อยลดลงอย่างชัดเจนจาก 27,073 ล้านบาทในปี 2548 ปี 2549 ลดลงมาเหลือ 25,300 ล้านบาท ปี 2550 ลดลงมาเหลือ 20,200 ล้านบาท ปี 2551 ลดลงมาเหลือ 20,195 ล้านบาท และในปี 2552 ลดลงมาเหลือ 9,500 ล้านบาท และขณะที่การส่งออกมีทิศทางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปี 2548 ส่งออกได้ 4,600 ล้านบาท ปี 2549 เพิ่มเป็น 5,500 ล้านบาท ปี 2550 เพิ่มเป็น 5,600 ล้านบาท ปี 2551 เพิ่มเป็น 8,770 ล้านบาท ปี 2552 ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้การส่งออกลดลงเหลือ 6990 ล้านบาท"
นอกจากนี้เพื่อให้มีความยั่งยืนจึงได้จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Excellence Center) 7 ศูนย์ เพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีแม่พิมพ์ให้สูงขึ้น อันจะช่วยเสริมขีดความสามารถในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน"
นางสุทธินีย์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในอุตสาหกรรมหลักมากมาย ทั้งเพื่อการส่งออกและบริโภคในประเทศ ชัดเจนที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมยาง เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับแม่พิมพ์ทั้งสิ้น เนื่องจากการใช้แม่พิมพ์สำหรับการขึ้นรูป ซึ่งช่วยให้การผลิตเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ
ดังนั้น หากอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในประเทศแข็งแกร่งยิ่งจะเป็นแรงเสริมให้อุตสาหกรรมสาขาต่างๆแข็งแกร่งตามไปด้วย การดำเนินโครงการพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในระยะแรก เห็นได้ชัดว่าสามารถลดการนำเข้าและเพิ่มมูลค่าการส่งออกได้อย่างชัดเจน
ในระยะที่ 2 จะยิ่งตอกย้ำความสามารถที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการวางแผนพัฒนาอย่างเป็นระบบดังกล่าวนี้ จะช่วยให้ อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของไทยมีขีดความสามารถที่เพิ่มขึ้นแข่งขันได้ในทุกเวทีการค้า และยังจะส่งผลสะท้อนทางอ้อมมาสู่เศรษฐกิจของประเทศได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นแหล่งสร้างงานให้กับแรงงานอีกหลายหมื่นอัตรา ทั้งในอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เองและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เสมือนการก้าวไปข้างหน้าของภาคอุตสาหกรรมเป็นไปในลักษณะฟันเฟืองหลายๆชิ้น ที่คอยส่งพลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีพลังต่อไป