นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" กล่าวถึงปัญหาเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ว่า ในสัปดาห์ที่แล้วคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และองค์กรต่างๆ ได้เข้ามาพบตนเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงและได้ให้เสนอแนะ และแนวคิดต่างๆเกี่ยวปัญหาชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา
อย่างไรก็ตาม ตนขอยืนยันว่าแนวการดำเนินการของรัฐบาลชุดปัจจุบันยังคงที่ยืดถือเรื่องสนธิสัญญา คือ การกำหนดแนวสันปันน้ำ คือ เส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ยกเว้นกรณีของตัวปราสาทพระวิหาร ซึ่งมีคำวินิจฉัยของศาลโลกไปแล้ว ซึ่งทางฝ่ายไทยเราก็เคารพคำตัดสินของศาลโลก แม้ว่าจะมีการแถลงสงวนสิทธิ์เอาไว้ก็ตาม
ส่วนกณีที่หลายฝ่ายมีความห่วงใยกันมากกลัวว่ารัฐบาลจะไปยอมรับแผนที่ที่ทางฝ่ายประเทศกัมพูชานำไปใช้ในการฟ้องร้องในคดีนั้นมากำหนดเส้นเขตแดนนั้น ตนยืนยันว่าหน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ไม่มีการยอมรับแผนที่ดังกล่าว การดำเนินการในเรื่องเส้นเขตแดนที่เรามีข้อตกลงในปีพ.ศ. 2543 นั้น เพื่อจะได้ข้อยุติในเรื่องนี้ ก็เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการปัญหาการปะทะ หรือการสู้รบกัน แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายไทยยังคงยึดถือแนวสันปันน้ำอย่าชัดเจน
สำหรับปัญหาเรื่องแผนที่ที่จะใช้ได้หรือไม่นั้นจะต้องมาทาบดูกับพื้นที่ตามสภาพความเป็นจริง ซึ่งฝ่ายไทยเรามีความมั่นใจว่าเมื่อนำมาทาบกับแนวสันปันน้ำแล้ว ความเข้าใจของฝ่ายเราน่าจะมีความถูกต้องว่าเส้นขีดแดนอยู่ที่ไหน และคงจะไม่ต้องเป็นห่วงว่าเราจะสูญเสียดินแดน ในขณะเดียวกันพื้นที่ที่มีความทับซ้อนกันอยู่ว่าฝ่ายก็บอกว่าเป็นของเรา ฝ่ายเขาก็บอกว่าเป็นของเขานั้น ซึ่งจะต้องบอกว่ามีทั้งสองฝ่ายมีความปะปนกันอยู่ แต่ด้วยข้อตกลงในปี 2543 นั้น ก็ทำให้ไปกระทบกระเทือนกับเรื่องสิทธิ อีกทั้งการดำเนินการในเรื่องนี้จะต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภา เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญของเรา
"ดังนั้นผมจึงอยากจะชี้แจงว่า เมื่อเวลาที่มีการรรุกล้ำของประชาชนฝ่ายกัมพูชานั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศจะทำหนังสือประท้วง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะดำเนินการแสดงสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อบอกว่าเรามีอธิปไตยเหนือบนที่ดังกล่าว เรื่องนี้เป็นแนวทางที่เราดำเนินการกันมาตลอด แม้ว่าจะมีการกระทบกระทั่งกันในบางครั้ง แต่โดยรวมแล้วทั้งสองฝ่ายได้พยายามหลีกเลี่ยงการปะทะ แต่จะใช้กระบวนการตามข้อตกลงเมื่อปี พ.ศ. 2543 ผ่านกระบวนการรัฐสภาของเรา"นายกรัฐมนตรีกล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ส่วนที่ยังไม่มีข้อยุติในเรื่องนี้นั้น ตนขอชี้แจงว่าก็เป็นเหตุผลหนึ่ง ซึ่งเราจะใช้ในช่วงที่ทางกัมพูชากำลังเดินหน้าในการบริหารจดทะเบียนมรดกโลกในส่วนของปราสาทพระวิหาร ซึ่งกำลังจะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่ประเทศบราซิลในช่วงปลายเดือนนี้ โดยรัฐบาลไทยได้มอบให้นายสุวิทย์ คุณกิติ รมว.ทรัยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะของฝ่ายไทยที่จะเข้าไปแสดงจุดยืนของฝ่ายไทยในที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่จะมีขึ้นในครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยได้มีการดำเนินการโน้มน้าวให้หลายประเทศให้เห็นว่า ปัญหาเรื่องนี้ตราบใดยังไม่มีการดำเนินการเรื่องเขตแดนให้เรียบร้อยก็ไม่สมควรที่จะมีการอนุมัติในการบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารไปให้ฝ่ายประเทศกัมพูชา โดยเฉพาะยังจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่ปรากฎว่าฝ่ายกัมพูชาเองได้ยื่นแผนหรือเอกสารที่ครบถ้วนในการที่จะเข้าบริหารพื้นที่ดังกล่าวเป็นไปลักษณะมรดกโลก
"ปัญหาเรื่องนี้มีมุมมอง และข้อคิดเห็นในทางกฎหมายที่แตกต่างกัน แต่ขอบยืนยันว่ารัฐบาล และผมพร้อมรับฟังทุกความเห็น และพร้อมจะเชิญทุกฝ่ายที่จะเข้าร่วมกันแก้ปัญหา แต่ขอให้มั่นใจและสบายใจได้ว่ารัฐบาลนี้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอะไรในการที่ทำให้ประเทศไทยประโยชน์ถึงขั้นจะต้องเสียดินแดนโดยเด็ดขาด ซึ่งการทำงานของรัฐบาลจะยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติ และจะทำทุกวิถีทางด้วยความเข้มแข็ง แต่ในขณณะเดียวกันก็จะพยายามหลีกเลี่ยงปัญหาความรุนแรง และกระทบกระทั่งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ"นายกรัฐมนตรีกล่าว