ABAC เผยดัชนีผู้บริโภคมองเศรษฐกิจแย่ลง-รายได้ลด ส่วนใหญ่ไร้เงินออม

ข่าวทั่วไป Wednesday July 21, 2010 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index เปิดเผยถึงผลการจัดทำดัชนีผู้บริโภคในประเทศว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ 54.9% ให้ความเห็นต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ว่าแย่ลง ส่วน 33.9% คิดว่าทรงตัว โดยมีเพียง 11.2% ที่เห็นว่าดีขึ้น

สำหรับการคาดการต่อราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้า พบว่าตัวอย่างเกือบ 4 ใน 5 หรือ 78.8% คาดว่าราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้น ส่วน 14.9% คาดว่าเท่าเดิม แต่มีเพียง 6.3% คาดว่าแย่ลง ส่วนสินค้าหรือบริการที่ประชาชนจับจ่ายใช้สอยช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ ของกิน-อาหาร(รวมถึงร้านอาหาร) 44.4% รองลงมาคือ ของใช้อุปโภค เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน 10.4% และ แฟชั่น เครื่องแต่งกาย 10.6% คิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 8,885 บาทต่อเดือน

ส่วนความคิดเห็นต่อสภาวะการจ้างงานในปัจจุบันพบว่า ผู้บริโภค 48.7% ระบุว่าลดลง ใกล้เคียงกับ 43.8% ที่ระบุว่าเท่าเดิม และมีเพียง 7.5% ที่ระบุว่าเพิ่มขึ้น ส่วนสภาวะรายได้ของครัวเรือนพบว่า 48.1% ระบุว่ารายได้ลดลง ส่วนอีก 41.6% ระบุว่าเท่าเดิม และที่เหลือ 10.3% ระบุว่าเพิ่มขึ้น

ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่ง หรือ 57.8% ระบุว่าไม่มีเงินเก็บออม ขณะที่อีก 42.2% มีเงินเก็บออม โดยมีรูปแบบการเก็บออม ใน 3 อันดับแรกคือ การออมเงินฝากกับธนาคาร รองลงมาคือ การทำประกัน และซื้อสลากออมสิน

สำหรับประเภทกองทุนที่สนใจจะลงทุนใน 3 อันดับแรก คือ การลงทุนเพื่อประหยัดภาษีและเพื่อการเกษียณ LTF/RMF รองลงมาคือ การลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร และการลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าตลาดทองคำ (Gold Future)

ผลสำรวจยังพบว่าเมื่อถามถึงการวางแผนท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ถึง 84.7% ไม่ได้วางแผนไปเที่ยวต่างจังหวัด และ 97.2% ไม่ได้วางแผนไปเที่ยวต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ความสุขมวลรวมของกลุ่มผู้บริโภคในที่ทำงานและการประกอบอาชีพปัจจุบัน พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.82 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน หรือค่อนข้างมีความสุขในการทำงานและ การประกอบอาชีพในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ABAC Consumer Index ได้มีการจัดทำขึ้นเป็นครั้งแรก และคาดว่าจะมีการรายงานทุกไตรมาส ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลในประเทศ และจะเป็นการก้าวสู่ความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการร่างนโยบายสาธารณะของภาครัฐ ตลอดจนช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจของภาคเอกชน

โครงการดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติและความคาดหวังของผู้บริโภค เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการบริโภคสินค้าและบริการอย่างเหมาะสมอีกด้วย สำหรับการเก็บข้อมูลในครั้งนี้มาจากประชาชนในระดับครัวเรือนอายุ 15-60 ปี จำนวน 2,250 ตัวอย่างจาก 12 จังหวัดของประเทศ ดำเนินการสำรวจตั้งแต่วันที่ 16-20 ก.ค.53


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ