หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันจัดทำโครงการการใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพ PBS คัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ โดยนำร่องในพื้นที่เกาะเสม็ด ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการกำจัดขยะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวได้กว่า 100 ตัน/เดือน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน คิดเป็นปริมาณคาร์บอนได้ถึง 1,600 ตัน/ปี
นายสันติ สาทิพย์พงษ์ ที่ปรึกษา รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกได้ผลักดันนโยบายสนับสนุนให้เกิดการใช้พลาสติกชีวภาพ เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกที่เหลือตกค้างและสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี
สำหรับประเทศไทยมีประชากรบริโภคพลาสติก/หัวปีละ 46.8 กิโลกรัม และก่อให้เกิดขยะพลาสติกตกค้างปีละประมาณ 1 ล้านตัน ซึ่งต้องใช้เวลา 300-400 ปี จึงจะย่อยสลายได้หมด ผนวกกับปริมาณขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นจำนวนมากถึงปีละ 9 ล้านตัน
"ถ้าสามารถนำถุงพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพมาใช้คัดแยกขยะอินทรีย์จากต้นทาง จะสามารถผลิตปุ๋ยชีวภาพได้ถึงปีละ 6 ล้านตัน คิดเป็นรายได้เพิ่มสูงถึง 60,000 ล้านบาท ซึ่งมีความสอดคล้องกับแผนที่นำทางแห่งชาติการพัฒนาพลาสติกชีวภาพในกลยุทธ์ที่ 4 การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรณรงค์และสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ" นายสันติ กล่าว
ดังนั้นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, บมจ.ปตท.(PTT) และบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด จึงได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการดังกล่าวขึ้นที่เกาะเสม็ด เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมชุมชนเกาะเสม็ดให้เป็นตัวอย่างของชุมชนเกาะสีเขียวที่ยั่งยืน(green island)
"เป็นการเสริมภาพลักษณ์ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม และยกระดับการท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์ชุมชนให้โดดเด่นยิ่งขึ้น และแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพนอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศแล้วยังเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ นับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาประเทศอย่างก้าวกระโดด" นายสันติ กล่าว
ด้านนายภิมุข สิมะโรจน์ ผู้ช่วยประจำ รมต.ประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การดำเนินโครงการนำร่องที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า หมู่เกาะเสม็ด นับว่ามีความเหมาะสมยิ่ง เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวมาเป็นจำนวนมากและก่อให้เกิดขยะประมาณ 6 ตัน/วัน อีกทั้งสภาพพื้นที่เป็นเกาะมีทะเลล้อมรอบทำให้มีพื้นที่จัดการขยะที่จำกัด จึงเกิดการจัดการขยะที่ไม่ถูกหลัก เช่น การเผาขยะในบริเวณเปิด เป็นต้น โดยอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมในวงกว้าง และทำให้สถานที่ท่องเที่ยวมีความเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว
ปัจจุบันได้มีการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ ซึ่งประชาชนในเกาะเสม็ดก็ได้มีการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำมาทำปุ๋ยหมักและไบโอดีเซลมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ดังนั้นโครงการนี้จะเป็นการสนับสนุนแนวทางในการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเป็นกรณีศึกษาที่สร้างความเข้าใจและข้อมูลที่แสดงผลได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการจัดการขยะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อไปในอนาคต
ขณะที่ นางวันทนีย์ จองคำ ผู้อำนวยฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม สนช. กล่าวว่า พลาสติกชีวภาพถือเป็นนวัตกรรมของวัสดุแห่งอนาคต เพราะเป็นพลาสติกชนิดใหม่ที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้อย่างเป็นรูปธรรมและทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าพลาสติกธรรมดาไม่ต่ำกว่าหนึ่งเท่า เนื่องจากสามารถผลิตจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่สามารถปลูกขึ้นใหม่ทดแทนได้ เช่น มันสำปะหลัง หรืออ้อย ในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สนช.ได้ริเริ่มและประสานงานโครงการนำร่องให้เกิดการใช้งานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการนำถุงขยะพลาสติกชีวภาพมาใช้จัดการคัดแยกขยะอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
"หมู่เกาะเสม็ดมีพื้นที่เหมาะสมในการนำรูปแบบดังกล่าวมาดำเนินงานเพื่อจัดการขยะที่ดีและเกิดการเพิ่มมูลค่าได้ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่มีความพร้อมอย่างสูง ที่ได้เริ่มมีการดำเนินคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อทำปุ๋ยหมักและไบโอดีเซลมาในระดับหนึ่งแล้ว" นางวันทนีย์ กล่าว"
โดยการดำเนินโครงการนี้ สนช.ได้ให้การสนับสนุนด้านวิชาการกับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยในการผลิตถุงขยะพลาสติกชีวภาพ PBS และการรณรงค์การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โดยใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพในการคัดแยกขยะอินทรีย์ เพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโรงหมักย่อยถุงบรรจุขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ยชีวภาพจำนวน 4 ล้านบาท จาก ปตท. และบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด(MCC)
ทั้งนี้จะมีการติดตามและเก็บข้อมูลที่เกิดขึ้นในโครงการอย่างต่อเนื่องในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยหวังว่ารูปแบบของโครงการนำร่องนี้จะสามารถนำไปสู่การขยายผลให้เกิดนโยบายระดับประเทศ ด้านการจัดการขยะอินทรีย์ที่มีระบบการคัดแยกได้อย่างประสิทธิภาพโดยใช้ถุงพลาสติกชีวภาพเป็นเครื่องมือ ซึ่งทำให้การจัดเก็บและการขนส่งมีความสะดวกและถูกสุขอนามัย อีกทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคัดแยกถุงพลาสติกชีวภาพออกในขั้นตอนการแปรรูปให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งนอกจากจะสามารถลดปริมาณก๊าซมีเทนที่เกิดจากการเน่าสลายตัวของขยะอินทรีย์ในบ่อฝังกลบขยะระบบเปิดแล้ว ยังก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มโดยนำมาใช้เป็นปุ๋ยชีวภาพสำหรับการปลูกพืชได้ต่อไป
ขณะที่นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท.กล่าวว่า ปตท.กับมิตซูบิชิ เคมิคอล ได้เข้าร่วมสนับสนุนดำเนินการแปรรูปขยะให้เป็นประโยชน์ โดยใช้ถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ(Biodegradable Plastic) ในการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยชีวภาพ โดยพิจารณาใช้ถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (Biodegradable Plastic) ที่ส่วนผสมระหว่าง PLA และ PBS ซึ่งมีความยืดหยุ่นและสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติภายในเวลา 6 เดือน จึงเหมาะสมต่อการคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำไปผลิตปุ๋ยชีวภาพ ช่วยลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของเกาะ และสร้างรายได้ในการจำหน่ายปู๋ยชีวภาพอีกด้วย
ทั้งนี้ ปตท. และ มิตซูบิชิ เคมิคอล ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างโรงหมักย่อยถุงบรรจุขยะอินทรีย์ให้เป็นปุ๋ยชีวภาพ และให้บริษัท พีทีที โพลีเมอร์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (PTTPM) เป็นผู้จัดหาวัตถุดิบเพื่อการผลิตถุงพลาสติกดังกล่าว ซึ่งโครงการสอดคล้องกับนโยบาย Green Society ของ ปตท.ในการจะสร้างให้เกิดสังคมสีเขียว ด้วยความใส่ใจในทุกขั้นตอนของการปฏิบัติงาน นับตั้งแต่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process) มีมาตรการดูแลด้านคุณภาพความปลอดภัยด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ทำให้โรงงานของกลุ่ม ปตท.เป็นโรงงานสีเขียว (Green Plant) ซึ่งจะนำมาสู่ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อส่งแวดล้อม (Green Product) และไม่มีอันตรายต่อสุขภาพถึงมือผู้บริโภคในที่สุด
สำหรับ Green Product ของกลุ่ม ปตท.ที่ผลิตจากพืชพรรณธรรมชาติ นอกจากผลิตภัณฑ์ที่คุ้นเคย เช่น น้ำมันไร้สารตะกั่ว น้ำมันแก๊ซโซฮอล ไบโอดีเซล ก๊าซ NGV แล้ว ยังมีอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สำคัญก็คือ พลาสติกชีวภาพ ซึ่งกลุ่ม ปตท.ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของพลาสติกชีวภาพ ที่สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น น้ำตาลจากอ้อย หรือ แป้งจากข้าวโพดและมันสำปะหลัง เป็นวัตถุดิบในการผลิต และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ช่วยลดภาวะโลกร้อน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตผลทางการเกษตร จึงได้มุ่งมั่นศึกษาพัฒนาการผลิต ตลอดจนแสวงหาโอกาสในการพัฒนาตลาดพลาสติกชีวภาพอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจ ที่จะได้ร่วมกันสร้างสรรค์และพัฒนาธุรกิจ ให้เข้าสู่ระดับโลก โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค เลือกใช้วัตถุดิบและเทคโนโลยีที่เหมาะสม มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม