พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง เผยผลการกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งหลบหนีเข้าประเทศและทำงานผิดกฏหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ 1,070 คน โดยเป็นผู้ที่ไม่เคยมีใบอนุญาตมาก่อนจำนวน 1,036 คน ส่วนที่เหลืออีก 34 คนเป็นผู้ที่เคยมีใบอนุญาตแต่ไม่ต่ออายุ
"แม้ว่ารัฐบาลได้เปิดโอกาสให้มีการดำเนินการลงทะเบียนอย่างถูกต้องแล้ว แต่ก็ยังมีแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรอีกจำนวนมาก ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาอาชญากรรมที่ตามมา โดย สตม.ได้ดำเนินการปราบปรามจับกุมมาโดยตลอดและผลักดันส่งกลับประเทศเป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังมีการลักลอบกลับเข้ามาอีก ทั้งนี้อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ" พล.ต.สนั่น กล่าว
พล.ต.สนั่น กล่าวว่า สำหรับการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองนั้น ตนเองได้กำชับเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจเข้มตามแนวชายแดนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุของปัญหาเกิดจากแรงงานขั้นต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านมีความยากจนจึงหลบหนีเข้ามาทำงานในประเทศไทย ดังนั้นหากประเทศไทยยกระดับแรงงานขั้นต่ำให้สูงขึ้นเพื่อลดระดับการเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนรวยและคนจนก็จะเป็นการแก้ปัญหาได้อีกทางหนึ่ง
ด้าน พล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผบช.สตม.กล่าวว่า จะดำเนินการคัดแยกแรงงานต่างด้าวที่ถูกจับกุมอย่างละเอียดอีกครั้งว่าบุคคลใดที่หลบหนีเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย และบุคคลใดที่ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ โดยทางเจ้าหน้าที่ได้จัดทำข้อมูลของบุคคลต่างด้าวทั้งหมดลงในระบบคอมพิวเตอร์ โดยการสแกนลายนิ้วมือทุกคนเก็บไว้ตรวจสอบประวัติการเข้าประเทศและประวัติการก่ออาชญากรรมอื่นๆ ได้ด้วย
"หากเป็นการหลบหนีเข้าประเทศทางเจ้าหน้าที่จะทำการผลักดันให้ออกนอกประเทศต่อไป แต่หากตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ก็จะส่งตัวไปเยียวยารักษาทั้งทางกายและสภาพจิตใจ" พล.ต.ท.วุฒิ กล่าว
สำหรับบทลงโทษกรณีนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาอาณาจักรเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนการให้ที่พักอาศัยหรือช่วยเหลือด้วยประการใดๆ แก่คนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นความผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท และการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นความผิดมีโทษปรับตั้งแต่ 10,000-100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน
"หากเจ้าหน้าที่ตรวจพบจะถูกจับกุมดำเนินคดีจนถึงที่สุด และหากมีการบังคับใช้แรงงานหรือบริการอาจถูกดำเนินคดีในความผิดฐานค้ามนุษย์ซึ่งมีโทษสูงทั้งจำทั้งปรับ และเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งผู้กระทำผิดอาจถูกยึดหรืออาหยัดทรัพย์สินได้" พล.ต.ท.วุฒิ กล่าว