นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ถึง กรณีปัญหาปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า "ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนที่ได้แสดงความหวงแหนแผ่นดินไทย การแสดงออกเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยเป็นสิ่งที่สำคัญ และคิดว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การปประชุมคณะกรรมการมรกดโลกเลื่อนการตัดสินใจพิจารณาแผนที่กัมพูชาเสนอออกไปเป็นปีหน้า
แม้ว่าจะทำให้คณะกรรมการมรดกโลกเลื่อนการพิจารณาออกไป 1 ปี แต่ก็ยังมีความสับสน และบางครั้งความสับสนก็นำไปสู่ความขัดแย้งกันในประเทศเอง กล่าวหากันไปกันมา ซึ่งการพูดจาแสดงความเห็นขัดแย้งกันเองก็จะกลายไปเป็นประโยชน์กับกัมพูชา ซึ่งจะจัดให้มีการเปิดเวทีในเรื่องนี้
ปัญหาพระวิหารเป็นปัญหารุนแรงมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ จุดยืนของไทยคือ เราถือว่าเขตแดนถูกกำหนดโดยสนธิสัญญา คือ สันปันน้ำ ถ้าไหลไปทางทิศไหนก็เป็นของฝ่ายนั้น พูดง่ายๆก็คือจุดสูงสุดของบริเวณนั้น ส่วนแผนที่เป็นเพียงวิธีการจัดทำ เราไม่ได้ยอมรับว่าแผนที่ที่จัดทำโดยฝรั่งเศสในขณะนั้นเป็นแผนที่ที่ถูกต้อง แต่กัมพูชาก็ยึดถือว่าต้องยึดตามแผนที่
ปัญหาเกิดขึ้นจากการที่กัมพูชาไปขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพราะพื้นที่ใดก็ตามที่เป็นมรดกโลกคณะกรรมการมรดกโลกก็จะเข้ามากำหนดแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าการบริหารจัดการพื้นที่ คงไม่ทำเฉพาะอาคารที่เป็นมรดกโลก แต่คงปฎิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่นั้น ต้องมาดูแลบริเวณรอบๆด้วย ซึ่งทางที่ขึ้นพระวิหารที่สะดวกที่สุด คือในไทย ทางรัฐบาลไทยจึงต้องพยายามค้ดค้านการขึ้นทะเบียน
ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อตอนปี 2552 ที่ คุณนพดล ปัทมะ ซึ่งขณะนั้นเป็นรมว.ต่างประเทศ ไปแสดงท่าทีว่าแถลงการณ์ร่วมกับกัมพูชาในการให้พระวิหารขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทำให้เราเสียเปรียบ โดยในปี 2552 รัฐบาลชุดปัจจุบัน ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้นิ่งนอนใจเรื่องนี้ พยายามดำเนินการทำความเข้าใจล็อบบี้และคัดค้านตลอดเวลาว่า การเดินหน้าของกัมพูชามีแต่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง และกระทบอธิปไตยของประเทศไทย เราย้ำว่ามรดกโลกทำขึ้นมาเพื่อเอาวัฒนธรรมมาส่งเสริมสันติภาพ ในขณะเดียวกันทางกัมพูชาเองก็พยายามผลักดันเรื่องนี้มาต่อเนื่องเช่นกัน
ในส่วนที่รัฐบาลดำเนินการ ที่ผ่านมา รมว.สุวิทย์ คุณกิตติ ก็พยายามล็อบบี้มาตั้งแต่ก่อนหน้าที่จะไปประชุมที่บราซิล แต่เอกสารที่กัมพูชาจะเสนอก็ไม่มีการเปิดเผย รวมทั้งไม่มีการเปิดเผยมาที่ฝ่ายไทยด้วย ทำให้การคัดค้านเป็นไปด้วยความลำบาก แต่เราก็เริ่มจากจุดนี้ในการคัดค้าน ว่าการส่งเอกสารไม่เป็นไปตามที่บังคับ เพราะต้องส่งล่วงหน้าก่อนเป็นเดือน นอกจากนั้น ในการครม.เองก็มีมติว่าถ้าคณะกรรมการมรดกโลกไม่เห็นใจแล้วเราอาจต้องมีการทบทวนการเป็นสมาชิก ในที่สุดเราก็ประสบความสำเร็จ โดยคณะกรรมการฯได้เลื่อนการพิจารณาในเรื่องนี้ออกไปเป็นปีหน้า
เราประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นไม่ให้กัมพูชาใช้วิธีนี้ในการรุกคืบเข้ามากระทบอธิบไตยและดินแดนของเรา แต่เราก็ไม่นิ่งนอนใจ เรามีเวลา 1 ปี แต่คราวนี้เราจะทำงานง่ายขึ้น เพราะเราเห็นเอกสารที่กัมพูชาเสนอเล้ว นอกจากภาครัฐแล้วก็จะเชิญชวนเอกชนที่สนใจร่วมกันศึกษาหาข้อมูล และถ่ายทอดความเห็นไปยังคณะกรรมการมรดกโลกหรือยูเนสโก โดยหลักแล้วก็จะเริ่มกระบวนการด้วยขั้นตอนทางการฑูต โดยกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่าที่ผ่านมาที่รัฐบาลดำเนินการมาทั้งหมดเพื่อปกป้องอธิปไตยและดินแดน แต่ต้องเป็นการแก้ปัญหาโดยสันติ พี่น้องในพื้นที่ก็จะต้องอยู่ด้วยความสงบสุข
"ที่จริงแล้วคิดว่าพี่น้องประชาชนที่อาจเห็นไม่ตรงกับผมในเรื่องข้อกฎหมาย เราได้พูดคุยกับตัวแทนต่างๆว่าเราอาจจะเห็นต่างกัน แต่จุดมุ่งหมายเหมือนกันคือรักษาประโยชน์และอธิปไตย เพราะฉะนั้นจึงขอความร่วมมือว่าอย่ากล่าวหากัน อย่าทะเลาะกัน เพราะการทะเลาะกันมีแต่จะเป็นประโยชน์กับต่างประเทศ ซึ่งถ้าเห็นไม่ตรงกันก็จะมีการเปิดเวทีแสดงความเห็นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ขอยืนยันว่า เอ็มโอยูที่ทำไว้เมื่อปี 2543 เป็นคุณในการสกัดกั้นไม่ให้กัมพูชารุกคืบเข้ามาได้ ซึ่งผมไม่ได้สนใจว่าเอ็มโอยูจะทำในสมัย แต่ผมสนใจว่าอะไรที่จะปกป้องและยึดประโยชน์ของประเทศชาติได้ดีที่สุด"นายกรัฐมนตรีกล่าว