ก.เกษตรฯ หวังผลักดันอีสานเป็นศูนย์กลางยางพาราแถบอินโดจีน

ข่าวทั่วไป Monday August 2, 2010 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2552 อนุมัติเงิน 8 พันล้านบาท ให้กลุ่มสถาบันเกษตรกรนำไปรวบรวมยาง เพื่อดึงยางออกจากตลาด กรณีมีปัญหาราคายางพาราตกต่ำ แต่การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างล่าช้า เนื่องจากติดปัญหากฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ที่ยากต่อการนำไปปฏิบัติ ดังนั้น ในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จึงได้เสนอปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้กลุ่มสถาบันเกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ส่งผลให้ขณะนี้ราคายางพาราทรงตัวอยู่ในระดับสูง

ในขณะนี้ราคายางได้ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด จากราคากิโลกรัมละ 40 บาท ในเดือนมกราคม 2552 เป็นกิโลกรัมละ 90-95 บาท ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกได้ขยับตัวดีขึ้น ประกอบกับการที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับยางพาราอย่างจริงจัง ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติได้กำหนดเป้าหมายราคายางพาราขั้นต่ำ ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท การปรับปรุงคณะกรรมการบริหารโครงการสนับสนุนสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางเพิ่มมูลค่า เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

นอกจากนี้ ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของโครงการฯ เพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินงานของสถาบันเกษตรกร รวมทั้ง การประสานความร่วมมือและการทำข้อตกลงร่วมกับประเทศอินโดนีเซีย และประเทศมาเลเซีย ในการสร้างเสถียรภาพราคา การศึกษาวิจัยพัฒนายางพาราทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และการพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้มีความเข้มแข็ง

นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ยังมีโครงการส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยที่ไม่เคยปลูกยางมาก่อน และมีที่ดินเป็นของตนเองตั้งแต่ 2 ไร่ แต่ไม่เกิน 5 ไร่ ได้มีอาชีพและรายได้ โดยการปลูกยางพารา รวมทั้ง จะดำเนินการสร้างโรงงานรับซื้อยางแท่ง STR 20 ขนาดกำลังผลิต 20,000 ตัน/ปี จำนวน 3 แห่ง ที่จังหวัดศรีสะเกษ อุดรธานี และนครพนม ตลอดจนการสร้างศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพารา 6 แห่ง ที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับผลผลิตยางพาราเกษตรกรชาวสวนยาง ให้ขายยางได้ในราคาที่เป็นธรรม มีทางเลือกในการขายผลผลิต และได้รับปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี

“มาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งรัดดำเนินการอยู่ในขณะนี้ นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ ลดการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานภาคการเกษตร และเสริมสร้างเสถียรภาพราคายางพาราของประเทศไทยให้มั่นคงและยั่งยืน และประการที่สำคัญ จะทำให้ภาคอีสานกลายเป็นศูนย์กลางยางพาราในแถบอินโดจีน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป"นายศุภชัย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ