กษ.สั่งติดตามและแก้ไขปัญหาอุทกภัย หวั่นส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรกร

ข่าวทั่วไป Wednesday August 4, 2010 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ได้ออกหนังสือสั่งการลงวันที่ 4 สิงหาคม 2553 ให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวางแผนและติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร มอบหมายให้ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย

ซึ่งในเบื้องต้นจังหวัดที่คาดว่าอาจจะเกิดภัยพิบัติด้านการเกษตร มีจำนวน 27 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก เลย หนองคาย นครพนม สกลนคร นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี จันทบุรี ตราด เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต และสตูล ดำเนินการติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตรวจสอบเพื่อการเตือนภัยเกษตรกร และหากเกิดสถานการณ์อุทกภัยให้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรของแต่ละจังหวัด กรณีเกิดความเสียหายให้เร่งสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนรายงานสถานการณ์ให้ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบทันที

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นได้สั่งการให้กรมชลประทานติดตามรายงานสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และเว็บไซต์ของหน่วยงานอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมแผนป้องกันปัญหาอุทกภัยไว้ล่วงหน้า ทั้งในเรื่องการเตือนภัยน้ำท่วมด้วยระบบโทรมาตร การวางแผนจัดการน้ำในเขื่อน การขุดลอกและกำจัดวัชพืชของระบบระบายน้ำ เป็นต้น

อนึ่ง ในช่วงตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคมถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2553 มีปริมาณฝนที่ตกชุกกระจายทั้งในภาคเหนือ ภาคกลางเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์อย่างต่อเนื่องรวมทั้งสิ้นประมาณ 190 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งมีปริมาณน้ำท่าเพิ่มขึ้นโดยสถานีวัดน้ำที่อำเภอเมืองจังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณน้ำในวันที่ 30 กรกกฎาคม 2553 ในอัตรา 144 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพิ่มขึ้นเป็น 296 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีในวันที่ 3 สิงหาคม 2553 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอต่อการส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในระยะต่อไปได้

สำหรับในโครงการชลประทานอื่น ๆ ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯและปริมาณน้ำในลำน้ำธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกันทำให้เกษตรกรในเขตโครงการชลประทานได้ทำนาปีทุกโครงการแล้ว ยกเว้นในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นช่วงปลายฤดูนาปรังอยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยว

สำหรับสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศมีสถานการณ์น้ำดีขึ้นโดยในช่วงตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2553 มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯรวม 502 ล้านลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มีการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเพียง 269 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะนี้ ( ข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2553 ) มีปริมาณน้ำทั้งหมด 33,619 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 9,777 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำสำคัญ ๆ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำภูมิพล มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ 4,030 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ 230 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำสิริกิติ์ มีปริมาตรน้ำในอ่าง ฯ 3,617 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นน้ำใช้การได้ 767 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาตรน้ำในอ่าง ฯ 185 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นน้ำใช้การได้ 149 ล้านลูกบาศก์เมตร และ อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาตรน้ำในอ่าง ฯ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นน้ำใช้การได้ 67 ล้านลูกบาศก์เมตร

นอกจากนี้ ตามที่ประกาศเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ระบุว่าจะเกิดร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรง ซึ่งจะส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ