พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ในลักษณะของการสร้างอุโมงค์ส่งน้ำจากลำน้ำแม่แตงไปยังเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลและแม่กวงอุดมธารา ภายใต้งบประมาณทั้งสิ้น 14,000 ล้านบาท ซึ่งการจัดสร้างอุโมงค์ส่งน้ำนี้จะแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ซึ่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูฝนให้คลี่คลายลงได้ โดยเบื้องต้นได้รับรายงานจากกระทรวงเกษตรฯ ว่าโครงการดังกล่าวมีการสำรวจออกแบบทางวิศวกรรมเรียบร้อยแล้ว และมีการทำเรื่องเกี่ยวกับการขอใช้พื้นที่ไปยังหน่วยงานรับผิดชอบต่างๆ แล้วด้วยเช่นกัน รวมถึงมีการจัดส่งรายงานการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณาแล้ว ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ กระทรวงเกษตรฯ จะได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติเปิดโครงการต่อไปเพื่อให้สามารถเดินหน้าโครงการให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยเร็วที่สุด เพราะโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ ไม่พบปัญหาเหมือนกรณีแก่งเสือเต้นหรืออื่นๆ แต่อย่างใด
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เป็นการเชื่อมต่ออุโมงค์ส่งน้ำความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร ระหว่างอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดฯ และอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงฯ เพื่อนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดฯ ในช่วงฤดูฝนซึ่งมีปริมาณน้ำมากเกินความต้องการไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงฯ เฉลี่ยปีละ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนในระยะที่ 2 เป็นการนำน้ำจากลำน้ำแม่แตงที่มีปริมาณเป็นจำนวนมาก ส่งให้กับอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดฯ โดยก่อสร้างประตูระบายน้ำแม่ตะมานปิดกั้นลำน้ำแม่แตง บริเวณบ้านแม่ตะมาน ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ และก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำความยาวประมาณ 26 กิโลเมตร เพื่อให้ประตูระบายน้ำยกระดับน้ำส่งเข้าอุโมงค์ในช่วงฤดูฝน ที่มักมีปริมาณน้ำเกินความต้องการ ไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดฯ ได้เฉลี่ยปีละ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่งัดฯ แล้ว จะมีปริมาณน้ำที่สามารถส่งต่อไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงฯ ได้เฉลี่ยปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร
นายธีระ กล่าวถึงขั้นตอนของการพิจารณารายงานการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่า หากกระทรวงเกษตรฯ มีการติดตามและประสานงานกับคณะกรรมการฯ อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง รวมทั้งจัดทำข้อมูลตามที่ร้องขอมาในคราวต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ก็จะผ่านขั้นตอนในส่วนนี้ไปได้ภายในปี 2554 เพื่อขออนุมัตเปิดโครงการในปี 2555 ต่อไป