เอแบคโพลพบ ก.ค.53 คนไทยมีสุขขึ้นเล็กน้อย,คนจบปริญญาตรีไม่ได้รับความเป็นธรรม

ข่าวทั่วไป Sunday August 8, 2010 11:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผย ผลวิจัยแนวโน้มความสุขมวลรวมหรือค่า Gross Domestic Happiness, GDH ของคนไทยภายในประเทศในเดือนก.ค. 53 ล่าสุด พบว่า ความสุขของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 6.52 มาอยู่ที่ 6.77

โดยปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อความสุขมวลรวมของคนไทยในผลวิจัยที่ผ่านมาคือ การใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ความจงรักภักดี ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว วัฒนธรรมประเพณีไทย ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ความพึงพอใจในงาน และความเป็นธรรมในสังคม เป็นต้น ในขณะที่อุปสรรคลดทอนความสุขคนไทยคือ บรรยากาศทางการเมืองและพฤติกรรมในทางมิชอบของกลุ่มข้าราชการ

ส่วนผลวิจัยเรื่อง ความเป็นธรรมในสังคมกับความสุขของคนไทย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ที่พักอาศัยอยู่ใน 28 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สระบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครนายก สระแก้ว ชลบุรี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี เลย หนองคาย กาฬสินธุ์ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ อุทัยธานี สุโขทัย เพชรบูรณ์ สมุทรสาคร ราชบุรี นครปฐม กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานีและสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 5,570 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างเดือน มิถุนายน ถึง กรกฎาคม 2553 พบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 42.6 ระบุความเป็นธรรมในสังคมที่ได้รับในการดำเนินชีวิตประจำวันในระดับมาก

อย่างไรก็ตามเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.7 ระบุได้รับความเป็นธรรมในสังคมระดับน้อย ที่เหลือร้อยละ 21.6 ระบุได้รับความเป็นธรรมในระดับปานกลาง เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า เพศชายและเพศหญิงระบุได้รับความเป็นธรรมในสังคมในการดำเนินชีวิตประจำทุกวันนี้พอ ๆ กัน คือ ร้อยละ 42.8 และ ร้อยละ 42.5 ตามลำดับ

"ที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อจำแนกการได้รับความเป็นธรรมในสิ่งที่ตนเองได้รับตามระดับการศึกษา พบว่า คนที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปและรู้สึกได้รับความเป็นธรรมมากมีอยู่เพียงร้อยละ 30.6 ในขณะที่คนที่สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีและรู้สึกได้รับความเป็นธรรมมากมีอยู่ร้อยละ 44.9 ยิ่งไปกว่านั้น คนที่สำเร็จการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปและรู้สึกได้รับความเป็นธรรมน้อยมีอยู่เกือบครึ่งหรือร้อยละ 48.9 ในขณะที่คนที่สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีและรู้สึกได้รับความเป็นธรรมน้อยมีอยู่ร้อยละ 33.1"

ดร.นพดล กล่าวว่า จะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่มีระดับการศึกษาแตกต่างกันจะรู้สึกได้รับความเป็นธรรมแตกต่างกัน โดยคนที่มีการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีขึ้นไปจะรู้สึกได้รับความเป็นธรรมน้อยกว่าคนที่สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ดังนั้น เราอาจมองได้อย่างน้อยสองด้านคือ ในด้านดี การศึกษาทำให้ประชาชนรู้จักคิดและรู้สึกต้องเรียกร้องมาซึ่งความเป็นธรรมในสังคม แต่ในด้านที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าประชาชนเห็นว่ามีการศึกษาดีแล้วยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในสังคม ผลที่อาจตามมาคือ การศึกษาอาจถูกมองว่าเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ

อย่างไรก็ตามเมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่า คนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ระบุความเป็นธรรมในสังคมที่ได้รับในการดำเนินชีวิตประจำทุกวันนี้อยู่ในระดับมาก รองมา คือช่วงอายุ 40-49 ปี คิดเป็นร้อยละ 43.7 ไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 40.7 อายุ 20-29 ปี ร้อยละ 39.5 และสำหรับคนที่มีอายุ 30-39 ปีระบุรู้สึกว่าตนเองได้รับความเป็นธรรมในระดับน้อย คิดเป็นร้อยละ 39.7

ดร.นพดล กล่าวอีกว่า กลุ่มคนที่มีช่วงอายุแตกต่างกัน รู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมในสังคมแตกต่างกัน โดยน่าเป็นห่วงเช่นกันเพราะช่วงอายุของคนวัยทำงานที่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศกลับรู้สึกได้รับความเป็นธรรมน้อยกว่าคนกลุ่มวัยอื่น

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อจำแนกตามพื้นที่พักอาศัย พบว่า ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล คิดเป็นร้อยละ 51.1 ระบุได้รับความเป็นธรรมในสังคมในการดำเนินชีวิตประจำทุกวันนี้อยู่ในระดับมาก ขณะที่ประชาชนที่พักอาศัยอยู่นอกเขตเทศบาล คิดเป็นร้อยละ 41.0 ระบุได้รับความเป็นธรรมในสังคมในการดำเนินชีวิตประจำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ