ส.ว.จี้รัฐคว่ำ MOU เขมร หวั่นปัญหาขุดเจาะน้ำมันพท.ทับซ้อนทำไทยเสียเปรียบ

ข่าวทั่วไป Monday August 9, 2010 19:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ตั้งกระทู้ถามในการประชุมวุฒิสภาเรื่องการดำเนินการของรัฐบาลไทยกรณีกัมพูชามีข้อตกลงให้สัมปทานขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทยกับบริษัทน้ำมันของฝรั่งเศส โดยได้สอบถามถึงแนวทางของรัฐบาลไทยต่อกรณีดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้อยู่ในระหว่างที่บริษัท โททาลสำรวจและผลิต(Total EP) ของฝรั่งเศส ประจำกัมพูชา ได้สำรวจพื้นที่ทางทะเลเพื่อขุดเจาะน้ำมันในพื้นที่ทับซ้อนอยู่ ดังนั้นรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรเกี่ยวกับข้อตกลงร่วมระหว่างไทยกัมพูชา ปี 44 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้ไปลงนามร่วมไว้กับสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา

ทั้งนี้ การยกเลิกเอ็มโอยูปี 44 คงยังไม่เพียงพอ แต่ควรต้องยกเลิกบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ทั้ง 2 ประเทศอ้างสิทธิในเขตหลายทวีปทับซ้อนกันของไทยกัมพูชา เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.44 ด้วยเพราะถือเป็นคู่แฝดกัน ซึ่งหนังสือสัญญาทั้ง 2 ฉบับน่าจะทำให้ไทยเสียเปรียบหลายอย่าง เพราะกัมพูชาได้ลากเส้นแบ่งเขตโดยเริ่มจาก จ.ตราด ผ่ากลางหรืออ้อมเกาะกรูด ซึ่งเป็นการรุกล้ำเขตอธิปไตย 12 ไมล์ทะเลของไทย รวมถึงกระแสข่าวออกมาว่ามีการแบ่งผลประโยชน์ให้กัมพูชาได้ 90% ส่วนไทยได้แค่ 10% มีข้อเท็จจริงอย่างไร

นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงว่า กระทรวงต่างประเทศได้รับหนังสือจากสถานทูตกัมพูชาในประเทศไทย ซึ่งได้รับข้อความยืนยันว่า ถึงแม้รัฐบาลกัมพูชาจะให้สัมปทานบริษัทโททาล แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งบริษัทโททาลยังยืนยันในสิทธิของทั้ง 2 ประเทศ โดยภายใต้เงื่อนไขสัญญาสัมปทานจะยังไม่มีการแสวงหาผลประโยชน์หรือทำการสำรวจในพื้นที่พิพาทแต่อย่างไร

ดังนั้นการให้สัมปทานดังกล่าว ทางฝ่ายไทยจึงไม่ได้เสียประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น และปัจจุบันยังไม่มีบริษัทน้ำมันรายใดเข้าไปสำรวจพื้นที่ดังกล่าวแม้แต่แห่งเดียว ขณะที่ฝ่ายไทยได้ให้สัมปทานบริษัทเอกชนเช่นเดียวกับทางกัมพูชา แต่ยังไม่มีการเข้าสำรวจใดๆ และขณะนี้กองทัพเรือได้ส่งเรือรบออกลาดตระเวนบริเวณดังกล่าวทุกวัน

นายกษิต กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศได้จ้างผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทางทะเลจำนวน 3 คนจากประเทศในกลุ่มยุโรป ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านทางทะเลระดับโลกมาทำการศึกษาร่วมกับคณะทำงานของฝ่ายไทย โดยจะใช้ข้าราชการระดับสูงที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศและเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เช่น เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลโลกทำการศึกษาข้อกฎหมายทั้งหมด, เอกอัครราชทูตประจำประเทศกรีซ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญา ดูแลเกี่ยวกับเขตน่านน้ำโดยตั้งเป้าว่าจะศึกษาให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้

รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีการแบ่งปันผลประโยชน์ 90:10 ว่าตั้งแต่จัดทำเอ็มโอยูมา มีการเจรจาเรื่องเขตหลายทวีปทั้บซ้อนมา 2 ครั้ง และยังอยู่ขั้นตอนการแสดงท่าทีของทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้นยืนยันว่าไม่มีเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ในบันทึกคณะกรรมาธิการระดับเจบีซี

ทั้งนี้ ได้ขอบคุณ ส.ว.ที่เสนอให้ยกเลิกหนังสือสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เพราะจริงๆ แล้วเป็นเจตนารมณ์ของตนมาตั้งแต่ต้นก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งอยู่แล้วที่จะยกเลิกเอ็มโอยู ส่วนบันทึกความเข้าใจนั้น ยอมรับว่าขณะนี้ปัญหาคือมีการลากเส้นแบ่งเขตผิดมาตั้งแต่ต้น ทำให้ไทยเสียประโยชน์ ซึ่งตนได้วางแนวทางดำเนินการไว้ทางเลือก 3 ทาง คือ ขีดเส้นแบ่งชายฝั่งเพื่อให้เกิดความชัดเจน, การลากหาเส้นตรงกลางระหว่าง 2 ประเทศ, การหาเส้นแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ