ครม.รับทราบการเยียวยาเหตุสารเคมีรั่วไหลของ บ.อดิตยาฯ ในนิคมมาบตาพุด

ข่าวทั่วไป Tuesday August 10, 2010 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.มารุต มัสยวาณิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบสถานการณ์และข้อเสนอเพื่อปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง ตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(คสช.) และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ จากการประชุม คสช.เมื่อ 18 มิ.ย.53 คสช.รับทราบรายงานการศึกษาสถานการณ์การแก้ไขปัญหาเหตุการณ์อุบัติภัยสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์รั่วไหลออกจากถังกักเก็บของบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์(ประเทศไทย)จำกัด ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมเหมราชตะวันออก(มาบตาพุด) จ.ระยอง ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตสารเคมีหลายชนิด ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.53 ส่งผลให้มีผู้ต้องเข้ารับการรักษาใน รพ.มาบตาพุด ถึง 1,434 คน แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต

สำหรับข้อบกพร่องดังกล่าว พบว่าไม่มีการประเมินผลกระทบและไม่มีกำหนดมาตรการป้องกันหรือเฝ้าระวัง รวมทั้งแผนรับมือจากการเกิดอุบัติภัยจากสารเคมี ประกอบกับคนงานก่อสร้างจำนวนมากในโรงงานพีทีที อาซาฮี ซึ่งได้รับผลกระทบทันทีจากโรงงานต้นเหตุ ไม่ได้ยินเสียงสัญญาณเตือนภัยใดๆ การแจ้งข้อความทางโทรศัพท์ (SMS) ของการนิคมฯ ขาดข้อมูลที่สำคัญหลายส่วน เช่น ชื่อสารเคมีที่เกิดการรั่วไหล ทิศทางการแพร่กระจายของสารเคมีและแนวทางในการป้องกันตนเอง ทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยไม่ทราบแนวทางการอพยพและการปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติภัย

ทั้งนี้ ได้มีการเยียวยาและรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลของผู้บาดเจ็บเป็นระยะเวลา 7 วัน พร้อมกันนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีข้อเสนอต่อการปรับปรุงระบบรองรับอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหลที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น การพัฒนาระบบการแบ่งระดับของเหตุฉุกเฉินให้สอดคล้องกันทุกโรงงานและหน่วยงาน, กำหนดให้โรงงานต้องแจ้งไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในกรณีฉุกเฉินในทุกระดับ โดยความรุนแรงระดับหนึ่งอาจแจ้งบางหน่วยงาน แต่ต้องไม่จำกัดเฉพาะการนิคมฯ ควรรวมถึงหน่วยงานสาธารณสุข(สายด่วน 1699) และป้องกันภัยจังหวัดด้วย ส่วนความรุนแรงระดับ 2 และ 3 ต้องแจ้งหน่วยงานและชุมชนทันที

ควรกำหนดมาตรการและขั้นตอนในการเผชิญเหตุการระงับและการแก้ไขให้ครบถ้วน ชัดเจน โดยต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจังและมีการลงโทษที่เหมาะสม ขณะเดียวกันทางจังหวัดต้องตัดสินใจประกาศเหตุฉุกเฉินให้เหมาะสมกับสถานการณ์อุบัติภัย เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ออกมาทำหน้าที่อย่างเป็นทางการและเป็นระบบโดยมีการประสานงานที่ดี

การสืบสวนกรณีการเกิดอุบัติภัย (After Incident Investigation) ต้องดำเนินการโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและต้องไม่รับค่าจ้างและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงงานต้นเหตุ และต้องสืบสวนให้แล้วเสร็จโดยไม่ล่าช้าเกินไปและเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะ นอกจากนี้บริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมิคัลล์ฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างชัดเจนโดยให้มีการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งทางแพ่ง ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด ค่าความเสียหายต่อพืชและการประกอบอาชีพของชาวบ้าน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความรับผิดทางอาญา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ