น.พ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แม้ว่าองค์การอนามัยโลกจะมีการยกเลิกระดับการเตือนภัยไข้หวัดใหญ่ 2009 ในระดับ 6 แล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา แต่กระทรวงสาธารณสุขไทยจะยังคงมาตรการที่สำคัญ 3 มาตรการหลัก ได้แก่ การเฝ้าระวังการระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง
เนื่องจากประชาชนไทยบางส่วนยังไม่มีภูมิต้านทานเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 และในช่วงนี้มีฝนตกชุกเกือบทั้งประเทศ เป็นช่วงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล รวมทั้งไข้หวัดใหญ่ 2009 มีความรุนแรงมากกว่าไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลสายพันธุ์อื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ หากป่วยเป็นไข้หวัด ขอให้สงสัยด้วยว่าอาจจะเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ต้องรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
สำหรับมาตรการที่ 2 คือการรักษาผู้ป่วยอย่างทันท่วงที ป้องกันการเสียชีวิต โดยขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ไว้อย่างเพียงพอ
และมาตรการที่ 3 คือการป้องกันการเจ็บป่วยทั้งในระดับบุคคลและระดับกลุ่ม โดยเฉพาะสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันมากๆ เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร โรงงาน สถานประกอบการต่างๆ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดประชาสัมพันธ์ย้ำเตือนการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ โดยยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัด ไอจาม
พร้อมทั้งเร่งฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดรวม ป้องกันได้ทั้งเชื้อไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลและไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งเป็นมาตรการที่ดีที่สุดในการป้องกันโรค โดยได้สั่งซื้อจำนวน 2.1 ล้านโด๊ส ฉีดให้กลุ่มเสี่ยงฟรี ดังนี้ 1.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์มากกว่า 7 เดือนขึ้นไป 2.คนอ้วนน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัมขึ้นไป
3.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 4.ผู้ที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ได้แก่โรคปอดอุดกั้น หอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งอยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด เบาหวาน ธาลัสซีเมีย ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันผิดปกติ 5.ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 6.เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี 7.บุคลากรสาธารณสุขและผู้มีหน้าที่กำจัดซากสัตว์ปีก โดยรับบริการฉีดฟรีที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน