สถานการณ์ภัยแล้งดีขึ้นหลังฝนตกชุก พื้นที่ประสบภัยลดลง 536 หมู่บ้าน

ข่าวทั่วไป Tuesday August 17, 2010 11:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้งหลายพื้นที่ของประเทศในช่วงนี้ปรับตัวดีขึ้นหลังจากมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้จำนวนหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งลดลง จำนวน 536 หมู่บ้าน เมื่อเทียบกับช่วงวันที่ 3-9 ส.ค.ที่ผ่านมา

ขณะนี้พื้นที่ประสบภัยแล้ง รวม 27 จังหวัด 120 อำเภอ 898 ตำบล 9,163 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 2,700,680 คน 690,338 ครัวเรือน ประกอบด้วย ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน ลำปาง ลำพูน พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี รวม 51 อำเภอ 330 ตำบล 2,750 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 496,163 คน 143,273 ครัวเรือน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครราชสีมา มหาสารคาม บุรีรัมย์ มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุบลราชธานี รวม 63 อำเภอ 511 ตำบล 5,941 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 2,052,567 คน 494,177 ครัวเรือน ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ลพบุรี รวม 6 อำเภอ 57 ตำบล 472 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 151,950 คน 52,888 ครัวเรือน

พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย รวม 1,528,614 ไร่ แยกเป็น พืชไร่ 1,269,002 ไร่ นาข้าว 96,498 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 163,114 ไร่ ในพื้นที่ 45 จังหวัด

หากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ภัยแล้ง ระหว่างวันที่ 3-9 ส.ค.53 มีพื้นที่ประสบภัยแล้ง รวม 27 จังหวัด 127 อำเภอ 973 ตำบล 9,699 หมู่บ้าน และช่วงระหว่างวันที่ 12—19 เม.ย.53 เป็นช่วงที่สถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงมากที่สุด จำนวน 60 จังหวัด 463 อำเภอ 3,005 ตำบล 24,248 หมู่บ้าน ราษฎรเดือดร้อน 7,421,017 คน 1,928,861 ครัวเรือน

สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ในเบื้องต้นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ 381 คัน แจกจ่ายน้ำอุปโภค บริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยแล้ง จำนวน 142,800,024 ลิตร ซ่อมทำนบและฝายกั้นน้ำ 334 แห่ง ขุดลอกแหล่งน้ำ 478 แห่ง

ทั้งนี้ จากการประสานกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์ลานีญ่า ส่งผลให้การเข้าสู่ฤดูฝนเป็นไปตามปกติ และเริ่มมีฝนตกชุกหนาแน่นในหลายพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มทำนาปีและทำการเกษตรได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม บางพื้นที่ยังคงประสบปัญหาความแห้งแล้ง จึงได้ประสานให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนจัดสรรการใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ