In Focusซัมเมอร์เดือดในแดนหมีขาว...ปากีสถานหนาวจมใต้กระแสธาร...อีกสัญญาณเตือนจากภาวะโลกร้อน

ข่าวต่างประเทศ Wednesday August 18, 2010 10:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รัสเซีย ประเทศที่ได้รับสมญานามว่า ดินแดนแห่งหมีขาว อาจจะทำให้เราๆท่านๆต้องลบภาพหมีขั้วโลกตัวใหญ่หน้าตาน่าเอ็นดูออกจากความทรงจำไปชั่วขณะ เมื่อได้เห็นภาพไฟป่าที่ลุกโชนโหมกระหน่ำในหลายพื้นที่ของประเทศ พร้อมๆไปกับสถานการณ์คลื่นความร้อนรุนแรงที่สุดในรอบ 1,000 ปีที่ทำให้อุณหภูมิในฤดูร้อนของรัสเซียพุ่งถึง 38 องศาเซลเซียส จากระดับอุณหภูมิปกติในช่วงซัมเมอร์ของรัสเซียที่ 24 องศาเซลเซียส

คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟป่าครั้งใหญ่ที่เผาผลาญพื้นที่นอกกรุงมอสโก เมืองหลวงของรัสเซียถึง 100 ตารางกิโลเมตร ส่งผลให้ชาวรัสเซียต้องเผชิญทั้งคลื่นความร้อนอันเนื่องมาจากอุณหภูมิที่อยู่ในระดับสูงผิดปกติ มิหนำซ้ำยังมีหมอกควันพิษที่เกิดขึ้นจากเหตุไฟป่าแผ่มาปกคลุม กรุงมอสโกจึงถูกรมควันด้วยก๊าซพิษและคลื่นความร้อน ยอดผู้เสียชีวิตจาเหตุการณ์ดังกล่าวสูงถึง 700 คนต่อวัน และยังทำให้ปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ในอากาศสูงกว่าระดับที่ยอมรับได้ถึง 2.2 เท่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ขณะที่พื้นที่ที่ถูกไฟป่าเผาทำลาย ทางภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้คร่าชีวิตชาวรัสเซียไปแล้วกว่า 50 คน บ้านเรือนกว่า 2 พันหลังคาเรือน ถูกไฟเผาไม่มีชิ้นดี ล่าสุด แม้ว่ากระทรวงภัยฉุกเฉินของรัสเซียเปิดเผยว่า พื้นที่ที่ถูกไฟป่าเผาผลาญลดลงไป 14% แล้ว หรือ 45,900 เฮคตาร์ จากเดิมที่ 53,500 เฮคตาร์ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งนี้เรียกได้ว่า ใหญ่หลวงนัก

เศรษฐกิจแดนหมีขาวอ่วม

คลื่นความร้อนครั้งเลวร้ายนี้ คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจรัสเซียคิดเป็นมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี รัสเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลี ข้าวบาเลย์ และข้าวไรย์ รายใหญ่ที่สุดของโลก ต้องออกคำสั่งห้ามส่งออกธัญพืชตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2553 เพื่อควบคุมราคาอาหารภายในประเทศในช่วงที่เกิดภัยแล้งรุนแรง และอาจขยายเวลาห้ามการส่งออกต่อไปอีกหากผลผลิตภายในประเทศยังคงย่ำแย่

ประธานาธิบดีดิมิทรี เมดเดเวฟ ของรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียคาดว่าจะสูญเสียผลผลิตธัญพืชไปถึง 25% จากสภาพความแห้งแล้งและคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้น และยังทำให้เกษตรกรจำนวนมากอยู่ในสภาพที่ใกล้จะล้มละลาย พื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรเสียหายกว่า 10 ล้านเฮคตาร์ หรือ 20% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดภายในประเทศ

นักวิเคราะห์กล่าวว่า การที่รัสเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวสาลีรายหลักของโลกสั่งห้ามส่งออกข้าวสาลี อาจทำให้ราคาข้าวสาลีในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อาหารหลายอย่าง อาทิ ขนมปังและบะหมี่ ต้องขึ้นราคาตามไปด้วย

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯต้องปรับลดคาดการณ์การผลิตข้าวสาลีทั่วโลกในปี 2553 — 2554 ลงอีก 2.3% และได้รับลดคาดการณ์ข้าวสาลีทั่วโลกลงอีก 15.3 ล้านตัน เหลือ 645.7 ล้านตัน หลังจากที่ได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตข้าวสาลีของรัสเซีย

ผู้เชี่ยวชาญจากแบงค์ใหญ่ ระบุว่า คลื่นความร้อนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผลผลิตด้านการเกษตร บีบีซีรายงานว่า หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของเอชเอสบีซีในรัสเซีย กล่าวว่า การที่รัสเซียยกเลิกการส่งออกข้าวสาลีจะทำให้รัสเซียต้องสูญเงินถึง 4 พันล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม การสูญเสียดังกล่าว ยังไม่เท่ากับการเสียชีวิตของประชาชน ซึ่งทางการรัสเซียถูกตราหน้าว่าไม่ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับวิกฤตที่เกิดขึ้น และเข้ามาแก้ปัญหาช้าไป แถมยังทำอะไรไม่ได้มากนัก งานนี้ รัฐบาลจึงสั่งปลดผู้อำนวยการกรมป่าไม้ของมอสโกที่ยังอยู่ในระหว่างการพักผ่อนหย่อนใจขณะที่รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินอันเนื่องมาจากไฟป่า นอกจากผู้อำนวยการกรมป่าไม้แล้ว นายกเทศมนตรีกรุงมอสโกยังเป็นจำเลยอีกรายที่ตกอยู่ภายใต้เสียงวิจารณ์ โทษฐานที่เขาไม่สามารถกลับมาบัญชาการในการแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที เพราะอยู่ในระหว่างการลาพักร้อน

งานนี้ร้อนถึง นายวลาดิเมียร์ ปูติน นายกรัฐมนตรีรัสเซีย ที่ต้องรีบสวมบทอัศวินขี่ม้าขาวเข้ามาบัญชาการในการดับไฟป่า ด้วยการมีส่วนร่วมโปรยสารเคมีเพื่อดับไฟป่า พร้อมกับขึ้นนั่งในตำแหน่งนักบินผู้ช่วยของเครื่องบินดับเพลิง และเป็นผู้กดปุ่มทิ้งน้ำเพื่อดับไฟป่า และยังอาสาเดินทางเข้าไปยังพื้นที่ประสบภัยในหมู่บ้านต่างๆ เพื่อให้กำลังใจกับประชาชน แต่ประชาชนจำนวนมากก็ยังไม่พอใจกับการให้ความช่วยเหลือที่ล่าช้าและไม่เพียงพอของทางรัฐบาล

เป็นเรื่องธรรมดาที่นักการเมืองจะต้องออกมาหาเสียงในยามวิกฤติ ขณะที่โพลล์ของหนังสือพิมพ์เวโดโมสติเมื่อเดือนก.ค.ชี้ว่า คะแนนนิยมของนายกฯรัสเซียตกลงไป 6% และสถานการณ์ไฟป่าอาจจะทำให้คะแนนนิยมของปูตินตกต่ำลงไปมากกว่านี้

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์การเมืองบางรายยังเชื่อว่า การออกมาขึ้นเครื่องบินดับไฟป่าครั้งนี้ คงจะมีส่วนช่วยกระตุ้นคะแนนนิยมของปูตินไม่มากก็น้อย ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งต่อไปในปี 2555 ซึ่งปูตินมีสิทธิ์ลงรับสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

แม้ว่า สถานการณ์ไฟป่าและคลื่นความร้อนในแดนหมีขาวจะดีขึ้นตามลำดับ หลังจากที่มีพายุฝนพัดเข้ามา หลายฝ่ายยังคงหาสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาพอากาศผันผวนที่รุนแรงเช่นนี้ นักวิทยาศาสตร์บางรายระบุว่า คลื่นความร้อนเป็นผลสะท้อนมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพบรรยากาศโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

ปากีสถานกับการรอคอยความช่วยเหลือ

ขณะที่รัสเซียต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน ปากีสถานกลับต้องรับมือกับเหตุน้ำท่วมครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ถึงขนาดที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกมาคาดการณ์ว่า ยอดผู้ประสบภัยจากภาวะน้ำท่วมในปากีสถานอาจสูงกว่าจำนวนผู้ประสบภัยจากเหตุภัยพิบัติครั้งร้ายแรงทั้งหมดที่ผ่านมา ตั้งแต่เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียปี 2547 เหตุแผ่นดินไหวในเอเชียใต้ปี 2548 และเหตุแผ่นดินไหวในเฮติเมื่อต้นปี

แม้แต่นายบัน กี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็กล่าวยอมรับว่า ภาวะอุทกภัยในปากีสถานเป็นภัยพิบัติครั้งรุนแรงที่สุดที่เขาเคยพบมา "นี่เป็นวันที่เศร้าใจที่สุดสำหรับผม และผมไม่อาจลืมความสูญเสียและความทุกข์ยากที่ได้พบมา ซึ่งที่ผ่านมาผมได้เดินทางไปเยี่ยมพื้นที่ประสบภัยพิบัติหลายแห่งทั่วโลก แต่ไม่มีที่ไหนรุนแรงเท่าที่ปากีสถาน" เลขาฯยูเอ็นกล่าวระหว่างเดินทางไปตรวจเยี่ยมการบรรเทาทุกข์ในปากีสถานเมื่อวันที่ 15 ส.ค.

จำนวนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมที่เกิดขึ้นมานาน 2 สัปดาห์ เพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน หรือเกือบ 12% ของประชากร ส่วนยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 1,500 คน สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูกฝ้าย อ้อยและข้าวสาลีถึง 20 ล้านไร่ ขณะที่ยูเอ็นได้รับเงินช่วยเหลือเพียง 20% จากงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ไร้ที่อยู่อาศัยและอาหารในปากีสถานทั้งหมด 460 ล้านดอลลาร์ ล่าสุด พบผู้ป่วยอหิวาตกโรครายแรกที่มิงโกรา ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลว่าอาจเกิดโรคระบาดร้ายแรงตามมา เนื่องจากยังมีการพยากรณ์สภาพอากาศว่า จะมีฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่

กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) เป็นห่วงว่า เด็กๆในปากีสถานประมาณ 3.5 ล้านคนจะป่วยด้วยโรคไทฟอยด์และตับอักเสบเอและบี เพราะเชื้อโรคที่มากับกระแสน้ำ โดยแหล่งน้ำสะอาดถือเป็นปัจจัยเร่งด่วนที่สำคัญที่ต้องมีการจัดหามาให้ได้ในขณะนี้ แต่อุปสรรคใดๆก็คงไม่เท่ากับปัญหาการขาดแคลนเงินทุน ทั้งที่องค์การอนามัยโลกนั้นได้จัดเตรียมแผนการด้านอนามัยไว้รอท่าอยู่แล้ว

ประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ของปากีสถานซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ที่ยังเดินทางไปยุโรปทั้งที่ประเทศเกิดวิกฤติได้ออกมาเรียกร้องให้นานาประเทศให้ความช่วยเหลือ เพื่อฟื้นฟูปากีสถานทั้งในระยะเร่งด่วนและในระยะยาว หลังจากที่ถนนหนทาง สภาพบ้านเรือน และรบบสื่อสารภายในประเทศถูกตัดขาดลงโดยสิ้นเชิง พื้นที่ถึง 1 ใน 5 ต้องจมอยู่ภายใต้กระแสน้ำ

สัญญาณเตือนภัยจากภาวะโลกร้อน

นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศชี้ว่า แม้ว่าทำเลที่ตั้งของปากีสถานและรัสเซียจะอยู่ห่างไกลกัน และเผชิญกับภัยพิบัติที่แตกต่างกัน แต่ทั้ง 2 ประเทศก็ตีตั๋วผจญภัยพิบัติในช่วงเวลาเดียวกันได้ เนื่องจากผลพวงของความกดอากาศสูงซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ทางตะวันตกของรัสเซีย โดยสภาพแรงกดอากาศดังกล่าวมีอิทธิพลต่อสภาพภูมิอากาศที่อยู่ห่างไกลกันได้

พื้นที่ที่อยู่ภายใต้ความกดอากาศสูงนั้น จะอยู่ในสภาพที่แห้งแล้งและร้อน ซึ่งสภาพดังกล่าวที่เกิดขึ้นในรัสเซียเป็นเวลาหลายสัปดาห์ทำให้เกิดสภาวะของมวลอากาศเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วดังที่มักจะเกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศที่อยู่ในระดับสูง และบีบให้มีการเคลื่อนตัวไปยังปากีสถาน ดังนั้น เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างมวลอากาศและกระแสลมในช่วงฤดูมรสุมในแถบเอเชีย ฝนจึงตกลงมาเหมือนฟ้ารั่วจนเกิดเหตุอุทกภัยครั้งรุนแรงในปากีสถาน

แม้ว่า จะมีหลายเสียงที่ย้ำว่า สภาพอากาศที่รุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้จะไม่ได้มีสาเหตุมาจากภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโดยตรง แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกหลายเสียงที่มองว่า สภาพอากาศที่รุนแรงนี้ จะเกิดขึ้นอีกบ่อยครั้งนับจากนี้ไป เนื่องจากโลกของเรามีอุณหภูมิที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ดังจะเห็นได้จากปรากฏการณ์เอลนินโญ่และลานินญ่าที่มักจะทำให้เกิดสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงไปทั่วโลก

ถึงเวลา (มานาน) แล้วที่ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เคยเกิดขึ้นไกลตัวเรานั้นอาจจะเกิดขึ้นกับเราได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ถ้าเรายังปล่อยให้โลกใบนี้ร้อนจนถึงจุดเดือด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ