ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขทุกจังหวัดเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 34 จังหวัดที่พบผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่มากขึ้น ขณะที่สถานการณ์ช่วงตั้งแต่เดือน ม.ค.-14 ส.ค.53 มีผู้ป่วยยืนยัน 7,515 ราย เสียชีวิตแล้ว 50 ราย ส่งผลให้ยอดสะสมผู้เสียชีวิตตั้งแต่เดือน เม.ย.52 เพิ่มเป็น 247 รายแล้ว
"ได้ทำหนังสือสั่งการให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในจุดที่มีการระบาดเป็นกลุ่มให้ส่งทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็วลงควบคุมโรคโดยเร็ว...เย็นนี้จะประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 34 จังหวัดที่มีผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น" นพ.ไพจิตร์ กล่าว
เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าโรคนี้สิ้นสุดการระบาดแล้ว แม้จำนวนผู้ป่วยยังมีอยู่แต่จะไม่ระบาดมากกระจายไปทั่วโลก โดยจะระบาดร่วมกับเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นๆ เป็นไข้หวัดตามฤดูกาล และแนะนำให้ทุกประเทศคงมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไว้อย่างเข้มแข็ง
โดยพื้นที่ 34 จังหวัดที่มีผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี จันทบุรี ตราด สระแก้ว ระยอง ฉะเชิงเทรา บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ ลำปาง พะเยา ลำพูน แพร่ เชียงราย นครศรีธรรมราช ภูเก็ต พังงา ตรัง และสงขลา
ปลัด สธ.กล่าวว่า จะได้ทบทวนและเร่งรัดมาตรการต่างๆ ในการป้องกันควบคุมโรคให้ได้ผล เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูการระบาดของไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ จากการเฝ้าระวังเชื้อในกลุ่มผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และผู้ป่วยปอดบวมในปี 2553 พบว่าร้อยละ 36 เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ในจำนวนนี้เป็นเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ร้อยละ 25 เป็นชนิดบีร้อยละ 8 และเป็นชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 ร้อยละ 3
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนให้ความสำคัญกับการป้องกันตนเองไม่ให้ป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ โดยใช้หลักกินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ ปิดปากปิดจมูกเวลาไอจาม ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัด และหยุดงานพักผ่อนอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายป่วย และขอเชิญชวนประชาชนกลุ่มเสี่ยงทั้ง 7 กลุ่มให้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งสามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาดอยู่ขณะนี้ 3 สายพันธุ์ที่โรงพยาบาลภาครัฐทุกแห่งทั่วประเทศฟรี ซึ่ง สธ.จัดเตรียมไว้ 2.1 ล้านโด๊ส บริการฉีดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-31 ต.ค.53
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-13 ส.ค.53 มีผู้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 302,056 คน ประกอบด้วย บุคลากรสาธารณสุข 107,230 คน หญิงตั้งครรภ์ 1,085 คน ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัม 3,240 คน ผู้พิการทางสมอง 690 คน ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 144,057 คน ผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป 26,768 คน เด็กอายุ 6 เดือน-2 ปี 3,170 คน และอื่น ๆ 15,809 คน