ศธ.งัดมาตรการดัดนิสัยนักเรียนหัวโจกเล็งส่งตัวไปบำเพ็ญประโยชน์ 3 จชต.

ข่าวทั่วไป Monday September 6, 2010 18:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ขานรับกระแสเรียกร้องของสังคม เตรียมงัดมาตรการขั้นเด็ดขาดดัดนิสัยกลุ่มนักเรียนนักเลงที่ก่อเหตุสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยประสานหน่วยงานทหารให้รับตัวไปช่วยทำกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

"ยืนยันว่าจะเอาจริงแน่ๆ กับมาตรการที่ว่านี้ โดยให้หน่วยงานหลักๆ อย่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานไปศึกษารายละเอียดแนวทางของกิจกรรม รวมถึงคุณลักษณะของเด็กที่จะถูกคัดมาร่วมกิจกรรมแล้ว" นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงฯ จะประสานหน่วยงานทหารเพื่อขอความร่วมมือจัดกิจกรรมคัดเด็กที่มีพฤติกรรมรุนแรงลงไปทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์รูปแบบต่างๆ ในพื้นที่ที่มีความยากลำบากท้าทายการใช้ชีวิต อย่างเช่น พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ กระทรวงฯ จะร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร(กทม.) จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการทำความสะอาดเมือง ลอกท่อระบายน้ำ กวาดถนน โดยเห็นว่าเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมควรจะถูกนำส่งมาทำกิจกรรมเหล่านี้ด้วย รวมทั้ง กทม.จะติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมในจุดเสี่ยงที่มีนักเรียนรวมตัวก่อเหตุทะเลาะวิวาทกันอีกประมาณ 10,000 ตัว โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 54

หลังจากนี้ กระทรวงฯ จะทบทวนกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุม ดูแล ลงโทษ เยาวชนที่มีพฤติกรรมกระทำผิดกกหมาย โดยเฉพาะในเรื่องความรุนแรง เพื่อดูว่ากฎหมายยังมีช่องว่างอะไรบ้างถึงทำให้เด็กก่อเหตุรุนแรงมากขึ้น และบทลงโทษต่างๆ นั้นเหมาะสมเพียงพอที่จะทำให้เกิดความตื่นตัวที่จะไม่กระทำผิดหรือยัง

นอกจากนี้ในส่วนของพ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนในการรับผิดชอบการกระทำของเด็กที่ทำผิดในอายุต่ำกว่า 18 ปีขนาดไหน ควรจะปรับปรุงให้เอาผิดผู้ปกครองได้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนที่ยุ่งยากหรือไม่ เพราะขณะนี้กฎหมายเปิดช่องให้เอาผิดกับผู้ปกครองที่ไม่เอาใจใส่ดูแลบุตรหลาน ปล่อยบุตรหลานไปกระทำผิดกฎหมาย แต่การเอาผิดนั้นต้องรอให้ผู้เสียหายเป็นผู้ฟ้องร้อง

โดยกรอบการดูแลป้องกันและแก้ปัญหาพฤติกรรมนักเรียนก่อเหตุวิวาทใช้ความรุนแรงเหล่านี้ กระทรวงฯ จะรวบรวมนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณา รวมทั้งเสนอให้สั่งการมอบหมายหน่วยงานหลักอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ให้ทำงานเชิงรุกแบบบูรณาการร่วมกันในการแก้ปัญหาด้วย

ด้านนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กล่าวว่า มาตรการที่จะส่งกลุ่มเด็กที่ชอบก่อเหตุไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ท้าทายอย่างจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นได้แนวคิดมาจากประชาชนที่แสดงความคิดเห็นมายังรายการโทรทัศน์มากมายว่าควรให้เด็กกลุ่มนี้ทำกิจกรรมแบบนี้ซึ่งน่าจะมีผลเชิงป้องปราม ทำให้เกิดความขยาดกลัวที่คิดจะก่อเหตุได้บ้าง

"พื้นที่เสี่ยงอย่างจังหวัดชายแดนใต้ต้องการวีรบุรุษ ต้องการคนที่มีความกล้าลงไปทำงานเชิงพัฒนา ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้เหมาะมากเพราะมีความกล้า มีพลังเยอะ กิจกรรมที่จะจัดให้ทำก็จะเป็นเหมือนกิจกรรมวิวัฒน์พลเมืองที่หน่วยทหารมีรูปแบบดำเนินการอยู่แล้ว" นายชินภัทร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ