เครือข่ายสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนทั่วประเทศนัดประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนภาคประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลให้เร่งแก้ไขปัญหา ที่โรงแรมสตาร์ จ.ระยอง พร้อมระบุหากข้อเรียกร้องไม่ได้รับการสนองตอบก็จะนำเรื่องไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้สั่งเพิกถอนโครงการเหมือนที่ผ่านมา
"เชิญมาหมดทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ มาดูว่ามีโครงการใดบ้างที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงว่าชอบธรรม ครอบคลุมเรื่องการเข้าถึงสิทธิของชุมชนมากน้อยขนาดไหน" นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"
ก่อนหน้านี้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกมาระบุว่า นอกเหนือจาก 76 โครงการลงทุนในมาบตาพุดแล้ว ทางสมาคมฯ จะเดินหน้าตรวจสอบโครงการลงทุนทั่วประเทศอีก 181 โครงการว่าดำเนินการตามขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
และเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาต 2 โครงการที่อยู่ในประกาศประเภทที่มีผลกระทบรุนแรง ได้แก่ โครงการผลิตเอทิลีนออกไซด์และเอทิลีนไกลคอน(ส่วนขยาย)ของบริษัท ทีโอซี ไกลคอน จำกัด ในเครือ บมจ.ปตท.เคมิคอล(PTTCH) และโครงการขยายกำลังการผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ของ บมจ.ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์(TPC) ส่วนโครงการอื่นๆ อีก 74 โครงการให้ยกคำร้อง
ส่วนการนัดชุมนุมคัดค้านประกาศ 11 ประเภทกิจการที่อาจส่งผลกระทบรุนแรงนั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า เบื้องต้นกำหนดไว้ในวันที่ 30 ก.ย.53 แต่จะขอรอดูท่าทีของรัฐบาลก่อนว่าตอบสนองข้อเรียกร้องหรือไม่ ขณะเดียวกันจะยื่นอุทธรณ์คดีมาบตาพุดต่อศาลปกครองสูงสุดในช่วงปลายเดือน ก.ย.นี้เช่นกัน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างคำอุทธรณ์อยู่