ABACโพลล์เผยคดี"วิคเตอร์ บูท"ส่งผลกระทบภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมไทย

ข่าวทั่วไป Sunday September 12, 2010 17:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องความเห็นของประชาชนต่อคดีวิคเตอร์ บูท และจุดยืนทางการเมืองล่าสุดของสาธารณชน พบว่าประชาชน 46.2% เห็นว่าคดีวิคเตอร์ บูท ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ขณะที่ 13.8% เห็นว่าไม่ส่งผล

อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวและมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ถึง 77% เห็นว่าส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศไทย

ส่วนความเห็นของประชาชนต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทย ต่อกรณีที่บุคคลในรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เดินทางเข้าไปพบนายวิคเตอร์ บูทนั้น พบว่าส่วนใหญ่ 78.9% เห็นว่าจะส่งผลทำให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยเสื่อมเสีย ส่วนที่เหลือ 21.1% ไม่คิดว่าจะทำให้เสื่อมเสีย

โดยเมื่อถามถึงความเห็นต่อท่าทีรัฐบาลไทยที่ยังไม่ส่งตัววิคเตอร์ บูท ให้กับประเทศมหาอำนาจใดๆ พบว่า ประชาชน 34.4% เห็นด้วย ส่วนอีก 21.2% ไม่เห็นด้วย และที่เหลือไม่มีความเห็น

ผลสำรวจยังพบว่า ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน จุดยืนทางการเมืองของสาธารณชนต่อรัฐบาลลดลงจาก 21.9% ในเดือนมกราคมปีนี้มาเหลือ 14.2% ในกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาล ส่วนกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลยังมีเพียง 18.1% ใกล้เคียงกับที่เคยสำรวจในเดือนมกราคม อยู่ที่ 18.2% แต่ไปเพิ่มในกลุ่มพลังเงียบอย่างมีนัยสำคัญ คือ จาก 59.9%ในเดือนมกราคมมาอยู่ที่ 67.7% ในเดือนนี้

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ กล่าวว่า ประชาชนเห็นว่าปัญหาสำคัญของประเทศในคดีวิคเตอร์ บูท กำลังจะทำให้ภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมของประเทศเสียหายทั้งในสายตาของคนไทยและต่างชาติ โดยมีการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองเข้าไปซ้ำเติม ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ของประเทศเลวร้ายลงไปอีก

ดังนั้นทางออกคือ การเพิ่มความเชื่อมั่นของทั้งสาธารณชนคนไทยและคนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย การลดภาพความขัดแย้งของฝ่ายการเมือง เพิ่มความร่วมมือแก้ปัญหาระหว่างประเทศ และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศก็น่าจะนำไปสู่การเพิ่มความสงบสุข และสามารถดึงความเชื่อมั่นของประชาชนคนไทยและต่างชาติที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยกลับคืนมาได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมนั้นถือว่าเป็นเสาหลักสำคัญประการหนึ่งของประเทศ

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจำนวนทั้งสิ้น 1,513 ครัวเรือน โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 6 - 10 กันยายน 2553


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ