กรุงเทพมหานคร(กทม.) ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.), สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สุ่มตรวจหาสารปนเปื้อนในผลไม้รถเข็นจากแหล่งจำหน่าย 38 แห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล พบส่วนใหญ่มีสารปนเปื้อนเกินกว่ามาตรฐานกำหนด
ทั้งนี้ จากการเก็บตัวอย่างมาทดสอบการปนเปื้อนในอาหาร 4 รายการ ได้แก่ ชุดทดสอบหายาฆ่าแมลงในอาหาร ชุดทดสอบกรดซาลิซิลิคในอาหาร(สารกันรา) ชุดทดสอบสีสังเคราะห์ในอาหาร และชุดทดสอบโคลิฟอร์มในอาหาร(เชื้อจุลินทรีย์) พบการปนเปื้อนของแบคทีเรียโคลิฟอร์มเกินกว่ามาตรฐานกำหนดถึงร้อยละ 67.3, การปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ร้อยละ 16.2, การปนเปื้อนของสารกันราร้อยละ 40.7 แต่ไม่พบการปนเปื้อนยาฆ่าแมลงในผลไม้สด
ส่วนผลไม้แปรรูปมีการปนเปื้อนหรือเจือปนของสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายถึงร้อยละ 64.2 ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งดองบ๊วยที่มีสีเขียวเข้มและสีแดงเข้มจนม่วง แบ่งเป็น การปนเปื้อนของสีสังเคราะห์ร้อยละ 32.1 และการปนเปื้อนสารกันราร้อยละ 32.1
ผู้ผลิตที่ใช้สารหรือวัตถุเคมีเจือปนในผลไม้รถเข็นถือเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 25 และ 26 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับประชาชนที่บริโภคผลไม้และอาหารที่มีสีสันสวยงามจากการปนเปื้อนสารเคมี ได้แก่ สารกันรา สีสังเคราะห์ อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ มีไข้ หายใจขัด อาจก่อให้เกิดมะเร็ง รวมทั้งร่างกายอ่อนแอขาดความต้านทานโรค และอาจเสียชีวิตได้
ดังนั้น ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานผลไม้โดยพิจารณาจากสีและรูปลักษณะภายนอกที่เป็นธรรมชาติ ไม่มีสารเจือปน เลือกซื้อจากแหล่งจำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะ พร้อมทั้งพิจารณาจากความสะอาดของตู้อุปกรณ์ที่ใช้ในการจำหน่ายผลไม้ การแต่งกายของผู้ค้าควรสวมถุงมือ ผ้ากันเปื้อน และหมวกคลุมผมที่สะอาด หากเป็นไปได้ให้เลือกวิธีเตรียมผลไม้รับประทานเอง