นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นที่มีข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ให้ยาโอเซลทามิเวียร์มากเกินไปในผู้ป่วยไข้หวัด 2009 จนเกิดปัญหาดื้อยานั้นว่า จากการรายงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสอบตัวอย่างผู้ป่วย 518 ตัวอย่าง พบมีการดื้อยา 7 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 1.35 ถือว่ายังอยู่ในระดับสากลเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งองค์การอนามัยได้ให้ตัวเลขดื้อยาได้ร้อยละ 1-2
สำหรับผู้ป่วยที่ดื้อยาทั้ง 7 ราย รักษาอาการหายเป็นปกติแล้ว ไม่มีอาการรุนแรง โดยมีแค่ 1 ราย ที่ต้องเปลี่ยนยารักษาและหายเป็นปกติแล้วเช่นกัน ส่วนผู้ป่วยที่เสียชีวิต 8 รายที่อยู่ในกลุ่มตัวอย่าง 518 ราย ไม่พบปัญหาเชื้อดื้อยาเลย
แม้ว่าองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ยังไม่สามารถวางใจได้ทั้งหมด จึงขอเตือนประชาชนทุกคนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงให้ไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังให้บริการฟรีที่โรงพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศ ซึ่งป้องกันได้ 3 สายพันธุ์ ทั้งไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล 2 สายพันธุ์และไข้หวัดใหญ่ 2009 ด้วย จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2553 ขณะนี้มีกลุ่มเสี่ยงเข้ารับบริการฉีดแล้ว 1,059,000 ราย คิดเป็นร้อยละ 50 ของวัคซีนที่มีอยู่ 2.1 ล้านโด๊ส เฉพาะสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้รับบริการฉีดวัคซีนมากขึ้น 270,000 ราย
ส่วนกรณีที่มีผู้ออกมาให้ความเห็นเรื่องไข้เลือดออกกับไข้หวัดใหญ่ว่ามีการระบาดหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจนมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลต้องออกไปนอนนอกระเบียงนั้น รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวอ้าง เป็นการให้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริงและอาจไม่ได้มีการตรวจสอบเพียงพอ
กรณีโรคไข้เลือดออกตั้งแต่มกราคมจนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยสะสม 75,852 ราย เสียชีวิต 87 ราย โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 10 ราย ได้แก่ นครศรีธรรมราช 5 ราย กทม. สมุทรปราการ ปัตตานี เชียงใหม่ และกำแพงเพชร จังหวัดละ 1 ราย จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ได้ติดอันดับ 10 จังหวัดที่มีการระบาดสูงสุดของประเทศ จากข้อมูลพบว่าผู้ป่วยมีมากใน 6 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา พบผู้ป่วยเฉลี่ยโรงพยาบาลละ 6 ราย บุรีรัมย์ 3-4 ราย ร้อยเอ็ด 2-3 ราย สุรินทร์ 6 ราย อำนาจเจริญ และศรีสะเกษ 1-2 ราย
อัตราป่วยผู้ป่วยไข้เลือดออกต่อประชากรแสนคนเมื่อแยกเป็นรายภาคก็ พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่ได้สูงกว่าภาคอื่น พบผู้ป่วย 96.87 ต่อประชากร 1 แสนคนในภาคใต้มีอัตราป่วย 226.76 ต่อประชากร 1 แสนคน ภาคเหนือ 124.83 ต่อประชากร 1 แสนคน
ขณะที่โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์มียอดสะสมตั้งแต่มกราคมจนถึง 4 กันยายน 2553 จำนวน 51,594 ราย เป็นไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 9,612 ราย คิดเป็นร้อยละ 20 ของไข้หวัดใหญ่ทุกสายพันธุ์ มีผู้เสียชีวิต 63 ราย เมื่อเทียบกับปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 194 ราย
และ 10 จังหวัดแรก ที่พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 มากที่สุด ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ นนทบุรี 26 ราย นครราชสีมา 22 ราย กรุงเทพฯ 18 ราย นครสวรรค์ 12 ราย ปทุมธานี 8 ราย สมุทรปราการ ลพบุรี จังหวัดละ 5 ราย อุดรธานี สุโขทัย จังหวัดละ 3 ราย และพิษณุโลก 2 ราย จะเห็นว่าพบผู้ป่วยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียง 2 จังหวัด
ดังนั้น 2 โรคดังกล่าวนี้ จึงไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลเหมือนที่เป็นข่าว ปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลเป็นภาวะปกติทั่วไปของโรงพยาบาลขนาดใหญ่