รง.น้ำตาลหนุนชาวไร่กู้ซื้อรถตัดอ้อย หวังแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้-ขาดแรงงาน

ข่าวทั่วไป Tuesday September 28, 2010 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประกิต ประทีปะเสน ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลพร้อมสนับสนุนโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อย เพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้และการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

อนึ่ง คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบหลักการโครงการสินเชื่อสำหรับการจัดซื้อรถตัดอ้อย เพื่อแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้และการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขของการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว โรงงานน้ำตาลทรายจะต้องเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ให้แก่ชาวไร่อ้อย กลุ่มชาวไร่อ้อย สหกรณ์ชาวไร่อ้อย หรือสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ที่มาขอสินเชื่อ หรือหากโรงงานน้ำตาลเป็นผู้ขอสินเชื่อเอง ต้องมีคณะกรรมการของโรงงานน้ำตาลและหรือบุคคลที่ ธ.ก.ส.พิจารณาเห็นชอบ เป็นผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 2 คน

"พร้อมสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่ โดยได้พยายามผลักดันมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะเชื่อว่า เป็นประโยชน์กับชาวไร่อ้อยอย่างมาก เนื่องจากการนำอ้อยไฟไหม้มาส่งให้โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อยจะต้องถูกตัดราคารับซื้อ อีกทั้งยังสูญเสียน้ำหนักมากกว่าอ้อยสด ในด้านของโรงงานก็ได้รับผลกระทบจากสิ่งปนเปื้อนจำนวนมากที่ติดมากับอ้อยไฟไหม้ ดังนั้น การแก้ปัญหานี้จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยให้ดีขึ้นได้"นายประกิต กล่าว

โครงการสินเชื่อรถตัดอ้อยนั้น ธ.ก.ส. จะสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อปีละ 1,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี รวม 3,000 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยต่อราย หรือต่อกลุ่มภายในวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท กำหนดชำระหนี้ภายใน 6 ปีนับจากวันกู้ โดยผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 2 ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ที่ MRR-2.00 ต่อปี ส่วนต่างที่เหลือรัฐบาลจะเป็นผู้รับภาระชดเชยให้ ทั้งนี้หากคิดจากอัตราดอกเบี้ย MRR ปัจจุบันที่ 6.75% ต่อปี ธ.ก.ส. คิดอัตราดอกเบี้ยตามโครงการนี้ 4.75% (MRR-2.00) ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ย 2.00% รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยส่วนต่างอีกร้อยละ 2.75 ต่อปี ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องชดเชยตลอดระยะเวลาโครงการ รวมทั้งสิ้นประมาณ 288.75 ล้านบาท

นายประกิต กล่าวต่อว่า แม้ว่าการเผาอ้อยก่อนตัดจะทำให้สะดวกในการเก็บเกี่ยว แต่ก่อให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในหลายด้าน กล่าวคือ ทำให้สูญเสียน้ำหนักมากกว่าอ้อยสด, หากทิ้งไว้ในไร่เกิน 3 วัน จะสูญเสียความหวาน, ตออ้อยตายมากกว่าอ้อยสด และหน อนกอเข้าทำลายได้ง่าย, มีวัชพืชขึ้นมากกว่า เพราะไม่มีใบคลุมดิน และสูญเสียอินทรีย์วัตถุในดิน, ในการขายให้โรงงานจะถูกตัดราคา และอาจมีปัญหาการค้าน้ำตาลในตลาดโลกในอนาคต, มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อากาศ สุขภาพ, สูญเสียน้ำตาลในอ้อย ทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่ำ, ทำให้น้ำอ้อยมี Dextran มากกว่าอ้อยสด อันส่งผลให้เกิดความยุ่งยากในกระบวนการผลิตน้ำตาล เช่น การทำใส การกรอง การต้มเคี่ยว การตกผลึกน้ำตาลช้ากว่าปกติ

ทั้งนี้ โรงงานน้ำตาลจะเร่งแจ้งข่าวสารให้กับชาวไร่อ้อยในแต่ละพื้นที่ทราบ เพื่อจะได้ดำเนินการขอสินเชื่อเพื่อจัดซื้อรถตัดอ้อยมาใช้ในการจัดเก็บอ้อยสดให้ทันต่อการเปิดหีบอ้อยประจำปี 2553/2554 ในปลายปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ