การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประจำปี 2553 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเปิดฉากตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 กันยายน และจะเสร็จสิ้นลงในวันที่ 30 กันยายนนี้ ได้ชื่อว่าเป็นการประชุมที่มีสีสันมากกว่าทุกๆปี นั่นก็เพราะเป็นการประชุมท่ามกลางสถานการณ์หลากหลายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นข้อพิพาทด้านการค้าและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างจีนและสหรัฐ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนและญี่ปุ่น รวมทั้งประเด็นการเมืองที่ยังคาราคาซังในพม่า และที่นักวิเคราะห์ให้ความสนใจมากที่สุดคือการที่รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจเก็บภาษีศุลกากรต่อต้านการทุ่มตลาด (AD) กระดาษเคลือบมันที่นำเข้าจากจีนด้วยอัตราสูงสุดถึง 313.8 % โดยไม่สนใจว่าอีกเพียงไม่กี่วันประธานาธิบดีบารัค โอบามา และนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่าของจีน จะต้องพบกันนอกรอบการประชุมสมัชชายูเอ็น เสมือนเป็นการส่งสัญญาณว่า สหรัฐไม่ได้แคร์มหาอำนาจแห่งเอเชียอย่างจีนเลยแม้แต่น้อย แถมยังพูดให้จีนเจ็บใจด้วยว่าการเรียกเก็บ AD ครั้งนี้ถือเป็นชัยชนะของ 3 บริษัทผลิตกระดาษรายใหญ่ของสหรัฐที่เป็นคู่แข่งกับจีน
นอกจากนี้ การประชุมสมัชชายูเอ็นปีนี้ยังมีเรื่องราวประเภทเก็บตกเกิดขึ้นมากมายในระหว่างการพำนักอยู่ที่นิวยอร์กของบรรดาผู้นำประเทศต่างๆ รวมทั้งนายมาห์หมุด อมาดิเนจ๊าด ประธานาธิบดีอิหร่านที่มาสร้างสีสันให้กับการประชุมได้อย่างเอิกเริก จากการขุดคุ้ยเหตุการณ์ 9/11 ขึ้นมาจวกสหรัฐกลางที่ประชุมว่า เหตุวินาศกรรมในครั้งนั้นเป็นการสมรู้ร่วมคิดกันเองของสหรัฐเพราะต้องการพุ่งเป้ากล่าวหาโลกอาหรับและปกป้องอิสราเอล การแสดงความเห็นแบบเอาอัตตาของตัวเองเป็นที่ตั้งของผู้นำอิหร่านคราวนี้ทำเอาที่ประชุม "วงแตก" เพราะบรรดาเจ้าหน้าที่ตัวแทนของสหรัฐ และตัวแทนจาก 32 ชาติ ต่างวอล์คเอาท์ออกจากที่ประชุม
ที่ผ่านมานั้น นักวิชาการและผู้คนทั่วไปมักให้ความสนใจกับการประชุมสมัชชายูเอ็น เพราะถือเป็นการประชุมใหญ่ที่รวมเอาบรรดาผู้นำประเทศทั่วโลกให้มารวมอยู่ในสถานที่เดียวกัน พบปะกัน และรับประทานอาหารด้วยกัน นอกจากนี้ การประชุมสมัชชายูเอ็นยังประกอบไปด้วยวาระการประชุมต่างๆ โดยในปีนี้วาระที่ทั่วโลกให้ความสนใจมากที่สุดคือเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) โดยผู้นำกว่า 140 คนจากประเทศทั่วโลกได้ออกแถลงการณ์ "Keeping the promise: united to achieve the Millennium Development Goals" เพื่อมุ่งเน้นเรื่องการปฏิบัติ นโยบาย และยุทธศาสตร์การส่งเสริมประเทศที่กำลังพัฒนาที่ยังล้าหลังให้ไปถึงเป้าหมาย MDGs เป็นหลัก รวมถึงการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประเทศที่ยากจนที่สุด
เป้าหมาย MDGs ครอบคลุมถึงเรื่องการลดความยากจน การต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ การรับมือกับความหิวโหย การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการศึกษา โดยแถลงการณ์ภายหลังการประชุมครั้งนี้กล่าวถึงทุกแง่มุมที่เป็นประเด็นระดับโลก ตั้งแต่ประเด็นสิทธิมนุษยชน การทุจริต ไปจนถึงเรื่องภาวะโลกร้อน
นอกเหนือจากวาระ MDGs แล้ว การประชุมสมัชชายูเอ็นยังมีวาระที่ว่าด้วยสถานการณ์การเมืองในพม่า ซึ่งวาระดังกล่าวเสร็จสิ้นลงเมื่อวันจันทร์ที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมเรียกร้องให้รัฐบาลทหารปล่อยตัวนักโทษการเมือง และนางอองซาน ซูจี แต่พม่าอ่านเกมการเมืองได้อย่างทะลุปุโปร่ง จึงไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม แต่ถึงกระนั้นก็ตาม นายบัน คี มูน เลขาธิการยูเอ็น ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้พม่าจัดการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ย.นี้อย่างบริสุทธิยุติธรรม โปร่งใส และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้ เลขาธิการยูเอ็นยังกล่าวทิ้งท้ายเป็นเชิงกดดันว่า "การเลือกตั้งครั้งนี้จะโปร่งใสไม่ได้ หากพม่าไม่อนุญาตให้นางซูจี เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งด้วย"
ส่วนวาระการประชุมอื่นๆก็ได้แก่ การระดมทุนช่วยเหลือปากีสถานที่ประสบภัยน้ำท่วมราว 2 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งยูเอ็นให้ความสนใจกับการเร่งฟื้นฟูปากีสถานเนื่องจากภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้ประชาชนเสียชีวิตเกือบ 2,000 คน นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนกว่า 20 ล้านคนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ขาดโภชนาการที่ถูกต้อง และเสี่ยงต่อโรคระบาด นายบัน คี มูน ยังได้วิงวอนนานาประเทศว่าอย่าตัดความช่วยเหลือแก่ประเทศยากจน แม้อาจต้องเผชิญกับยอดขาดดุลงบประมาณบ้างก็ตาม ซึ่งเลขาฯยูเอ็นก็ไม่ได้ผิดหวัง เมื่อนายโฆเซ มานูเอล บาร์โรโซ ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป ประกาศเสียงดังว่า สหภาพยุโรปจะให้เงิน 1,300 ล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งสร้างความฮือฮาให้กับที่ประชุมไม่น้อย
ญี่ปุ่นเองก็ไม่ยอมน้อยหน้าแม้สถานการณ์การเงินในประเทศยังคงผันผวนและสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเงินฝืด ด้วยการบริจาคเงิน 8.5 พันล้านดอลลาร์ช่วยเหลือประเทศยากจน นอกจากนี้ ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆในยุโรป ยังร่วมบริจาคเงินผ่านเวทียูเอ็นเพื่อช่วยเหลือคนยากจนทั่วโลกด้วย
แต่สำหรับสหรัฐ ต้องบอกว่าปีนี้เปลี่ยนไป เมื่อโอบามาประกาศว่าสหรัฐจะพิจารณาเปลี่ยนแนวทางการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาทั่วโลก ด้วยการแนะแนวทางให้ประเทศต่างๆก้าวพ้นความยากจน มากกว่าที่จะคอยรับเงินบริจาค สิ้นเสียงการแถลงของโอบามาก็ทำเอานักวิชาการหลายคนวิเคราะห์ว่า อาจเป็นเพราะสหรัฐเองก็มีภาระมากมายในประเทศที่ต้องสะสาง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนว่างงานหรือภาวะตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล
อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่าการประชุมสมัชชายูเอ็นปีนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่เผ็ดร้อนทั่วโลก ซึ่งสถานการณ์ที่หลายฝ่ายสนใจก็คือข้อพิพาทระหว่างจีนและญี่ปุ่น จากเหตุเรือประมงของจีนชนเรือตรวจการณ์ญี่ปุ่น 2 ลำ บริเวณเกาะเตียวหยู หรือชื่อตามภาษาญี่ปุ่นว่าเซนกากุ ในแถบน่านน้ำทะเลจีนตะวันออก การที่ญี่ปุ่นจับตัวนาย จ้าน ฉีเซียง ไต้ก๋งเรือ วัย 41 ปี เสมือนเป็นการราดน้ำมันบนกองไฟ เพิ่มเชื้อเพลิงแห่งความขัดแย้งของ 2 ประเทศ มีการประท้วงวุ่นวายในจีน จนถึงขนาดที่ไม่สามารถจัดการเจรจานอกรอบระหว่างผู้นำทั้ง 2 ประเทศได้ แต่โชคดีที่เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยอมปล่อยไต้ก๋งเรือประมงชาวจีนรายนี้ ท่ามกลางความโล่งใจของทั้งผู้ที่อยู่ในที่ประชุมยูเอ็น และผู้ที่เกี่ยวข้องกับจีนและญี่ปุ่นด้วย
ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองมองว่า หากข้อพิพาททางการเมืองระหว่างจีนและญี่ป่นยังไม่จบสิ้นลง โอบามาก็มีแนวโน้มว่าจะเลือกยืนข้างญี่ปุ่น เพราะโอบามาย้ำอยู่เสมอว่าความเป็นพันธมิตรของสหรัฐและญี่ปุ่นถือเป็นเสาหลักอันมั่นคงระหว่างกัน ผิดกับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐที่ยิ่งนับวันจะเปราะบางและมีระยะห่างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อมีตัวแปรสำคัญเข้ามาอย่างเรื่องค่าเงินหยวน
องค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น สหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2488 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง โดยความร่วมมือของอดีตประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี รูสเวท์ แห่งสหรัฐ และวินสตัน เซอร์ชิล นายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษในขณะนั้น เดิมองค์การสหประชาชาติใช้ชื่อเต็มในภาษาอังกฤษว่า United Nations Organization หรือ UNO แต่ต่อมาเรียกเป็น United Nations หรือ UN คำว่า สหประชาชาติ ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2485 ในเอกสาร "คำประกาศโดยสหประชาชาติ" ซึ่งมีประเทศมหาอำนาจ 4 ประเทศ ลงนามในประกาศฉบับนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน และ สหภาพโซเวียต เป็นองค์กรระหว่างประเทศ เลขาธิการยูเอ็นคนปัจจุบันคือ บัน คี มูน ชาวเกาหลีใต้ เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 ต่อจาก นายโคฟี อันนัน องค์การสหประชาชาติ ประกอบด้วยองค์กรหลัก 7 องค์กร คือ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (General Assembly), คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (Security Council), คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council : ECOSOC), คณะมนตรีภาวะทรัสตีแห่งสหประชาชาติ (Trusteeship Council), ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice), สำนักงานเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ (Secretariat) และคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Human Rights Council) นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติยังมีองค์กรในเครืออีกมากมาย รวมถึงองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization - ICAO), ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development - UNCTAD), สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program - UNDP), องค์การสิ่งแวดล้อมโลก (United Nations Environment Programme - UNEP), องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization - UNESCO) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund - UNICEF) องค์การอนามัยโลก (World Health Organization - WHO) ฯลฯ การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติจะเสร็จสิ้นลงในวันที่ 30 กันยายนนี้ แม้ว่าประเทศสมาชิกต่างให้คำมั่นสัญญาว่าจะมุ่งมั่นผลักดันให้บรรลุเป้าหมาย MDGs ให้ได้ภายในปี 2558 รวมถึงการลดปัญหาความยากจน และความหิวโหยให้ได้ประมาณ 50% ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของแต่ละประเทศ และเงินจำนวนมหาศาลที่จะต้องจัดสรร อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ธนาคารโลกออกแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ว่าจะช่วยนานาประเทศให้ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย MDGs ให้สำเร็จด้วยการให้เงินกู้สนับสนุนโครงการต่างๆ ...มีข่าวดีนี้อย่างนี้แล้ว เป้าหมาย MDGs ก็คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม