นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง "ตำรวจ" โดยศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัด และกลุ่มตัวอย่างข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 1,174 ครัวเรือน และตัวอย่างข้าราชการตำรวจจำนวน 567 นาย
จากบัญชีรายชื่อข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.9 มองว่า ตำรวจยังไม่ใส่ใจความรู้สึกของประชาชน ยังไม่ทำงานเชิงรุกเข้าถึงชุมชนอย่างเพียงพอ ประชาชนเกินครึ่งหรือร้อยละ 54 มองว่ารัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่ดูแลสวัสดิการให้กับตำรวจอย่างเพียงพอ
ส่วนเสียงสะท้อนจากข้าราชการตำรวจในการวิจัยครั้งนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.5 ระบุประชาชนคาดหวังสูงเกินกว่าขีดความสามารถที่แท้จริงของตำรวจ รองลงมาระบุประชาชนมองภาพลักษณ์ของตำรวจในด้านลบเกินความเป็นจริง เมื่อถามถึงกรณีข่าวอื้อฉาวของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มีต่อตำรวจหญิง พบร้อยละ 71.5 มีปัญหาทำนองนี้กับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนอื่นๆ อีก และร้อยละ 74.9 คิดว่าปัญหาอื้อฉาวเรื่องเพศเกิดขึ้นในหน่วยงานราชการอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงให้คะแนนประเมินความพึงพอใจต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในภาพรวมช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ "ค่อนข้างดี" คือ 6.31 คะแนน และคะแนนภาพลักษณ์ของตำรวจไทยในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ "ค่อนข้างดี" เช่นกันคือ 6.46 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 ขณะเดียวกัน ข้าราชการตำรวจร้อยละ 72.2 เชื่อมั่นระดับมากถึงมากที่สุดต่อการทำหน้าที่ของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่