(เพิ่มเติม) "หมอประเวศ"คิดบวก ชี้ป่วนรายวันกระตุ้นคนไทยร่วมมือปฏิรูปประเทศมากขึ้น

ข่าวการเมือง Thursday October 7, 2010 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.ประเวศ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ เชื่อว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นรายวันในช่วงนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย แต่กลับมองว่าจะมีส่วนช่วยทำให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจการปฏิรูปประเทศมากยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าทุกคนอยากเห็นความสงบเกิดขึ้นในบ้านเมือง

"ไม่เป็นปัญหาต่อการปฏิรูป แต่มันยิ่งเร่งให้ต้องมีการปฏิรูป และคนจะหันมาสนใจการปฏิรูปมากขึ้น เพราะทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองดีขึ้น"นพ.ประเวศ กล่าวในงาน "ปฏิรูปประเทศไทย...ผักชี??"

พร้อมกันนี้เชื่อว่า แนวทางการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน โดยมีความจำเป็นต้องติดอาวุธทางปัญญา ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการสมัชชาฯ ได้ทำหน้าที่ในการส่งเสริมบทบาทของประชาชน ส่วนคณะกรรมการชุดของนายอานันท์ ปันยารชุน จะทำให้หน้าที่วางโครงสร้างด้านนโยบายในภาพรวมเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ

นพ.ประเวศ เชื่อว่า การปฏิรูปประเทศไทยในที่สุดแล้วจะนำไปสู่การปรองดองได้ เนื่องจากทุกวันนี้สังคมยังขาดความเป็นธรรม การปฏิรูปจึงเป็นการเข้าไปแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรม

สำหรับปัญหาที่นำไปสู่วิกฤติจนบ้านเมืองไม่มีทางออกในขณะนี้ คือปัญหาการขาดความเป็นธรรมและมีความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเข้าถึงทรัพยากร ซึ่งปัจจุบันคนไทยมักไม่มองในเชิงโครงสร้างแต่มองเพียงแค่ตัวบุคคล จึงทำให้ไม่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องสนับสนุนให้ประชาชนติดอาวุธทางปัญญา เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปต่อไป

โดยควรเน้นเรื่องการกระจายรายได้ รวมถึงการพัฒนาไปยังชุมชนท้องถิ่น ซึ่งจำเป็นต้องปฏิรูปผู้นำในองค์กรท้องถิ่นให้มีวิธีการคิดที่ถูกต้อง รวมถึงปฏิรูปในระดับนโยบายชุมชน เพื่อสามารถผลักดันให้นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

นางผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการปฏิรูปประเทศนั้นควรจะยกเลิกตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด และตำแหน่งนายอำเภอ เนื่องจากมองว่าไม่มีความจำเป็นและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ โดยเฉพาะตำแหน่งผู้ว่าฯ ซึ่งเป็นเพียงตำแหน่งที่เป็นเสมือนตัวแทนของพรรคการเมืองที่กำกับดูแลกระทรวงมหาดไทย ที่ส่วนใหญ่จะเข้าไปควบคุมการเลือกตั้ง ซึ่งส่งผลต่อการซื้อสิทธิขายเสียงในจังหวัดนั้นๆ ดังนั้นหากมีการปฏิรูปในจุดนี้จะมีส่วนช่วยในการลดปัญหาคอรัปชั่นได้อีกทางหนึ่ง

พร้อมทั้งควรกระจายอำนาจไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) เป็นผู้รับผิดชอบในแต่ละจังหวัด เพราะจะสามารถกำหนดนโยบายหรือประชาชนจะสามารถดูแลในพื้นที่ได้ด้วยตนเอง โดยมองในแง่ว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะมีส่วนช่วยลดความขัดแย้งที่อาจจะนำมาสู่การชุมนุมในกรุงเทพฯ

นายอนันท์ กาญจนพันธุ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศจะเกิดขึ้นได้ควรจะเปิดพื้นที่ทางปัญญาหรือเปิดพื้นที่สาธารณะให้ทุกภาคส่วนในสังคมสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล และนำไปสู่การขับเคลื่อนทางสังคมได้ พร้อมมองว่าในปัจจุบันสังคมไทยเป็นแบบพหุสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นไม่มีอะไรที่จะกำหนดตายตัวได้

นายสมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาที่นำไปสู่ความขัดแย้งของสังคมในขณะนี้ เกิดจากความเสื่อม 4 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม และประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งความเสื่อมทั้ง 4 ด้านอยู่ในภาวะการถอยร่นและอยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์

โดยแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมทั้ง 4 ด้านนั้นมีทางออก คือ ต้องจำกัดการตีบตันทางสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และข้อกฎหมายต่างๆ ที่นำไปสู่การกำหนดนโยบาย ซึ่งหากต้องการนำไปสู่การปรองดองจะต้องคำนึงถึงตัวแปรในปัจจัยเหล่านี้ และการบริหารจัดการจำเป็นต้องดูที่ต้นเหตุไม่ใช่ไปแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

นายณรงค์ เพช็รประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการปรับเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์เชิงอำนาจ โดยเน้นการจัดสรรเชิงอำนาจให้อยู่ในระบบการแบ่งปันไม่ใช่การช่วงชิงอำนาจ รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจไม่ว่าจะเป็นระหว่างรัฐกับทุน หรือระหว่างรัฐกับภาคประชาชน โดยการเปิดพื้นที่ทางสังคมให้ทุกส่วนได้เข้าถึงผลประโยชน์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ