ป.ป.ช.เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมนานาชาติต่อต้านการทุจริต10-13 พ.ย.นี้

ข่าวการเมือง Tuesday October 12, 2010 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14 ในระหว่างวันที่ 10 — 13 พฤศจิกายน 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด “คืนความเชื่อมั่น: ทั่วโลกโปร่งใสสู้ภัยทุจริต (Restoring trust : Global action for transparency)" โดยมีเป้าหมาย 4 ประการด้วยกัน ได้แก่ โลกมีสันติภาพและความมั่นคงมากขึ้น (Restoring Trust for Peace and Security), ส่งเสริมความโปร่งใส และความสำนึกรับผิดชอบในตลาดค้าทรัพยากรธรรมชาติและตลาดพลังงาน (Fuelling Transparency and Accountability in the Natural Resources and Energy Markets), การรับมือกับความท้าทายด้านธรรมาภิบาลที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Governance: Ensuring a Collective Commitment) และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับความร่วมมือในระดับโลกเพื่อให้โลกธุรกิจมีจิตธรรมาภิบาล (Strengthening Global Action for an Accountable Corporate World)

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า หลักของการดำเนินการด้านบรรษัทภิบาลมี 5 ด้านหลักด้วยกัน ได้แก่ 1. ความตระหนักในภาระหน้าที่(Accountability) ซึ่งต้องเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยสำนึกรับผิดชอบอย่างแท้จริงเป็นการทำงาน โดยไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่าทำแล้ว แต่ยังต้องทำให้ดีที่สุดด้วย

2. ความรับผิดชอบ (Responsibility) เกิดขึ้นจากการกำหนดภารกิจของแต่ละฝ่ายไว้อย่างชัดเจนว่า ใครต้องทำอะไรและอย่างไร การกำหนดภารกิจจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น รวดเร็ว ไม่เกิดความซ้ำซ้อน และเกิดการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ทำให้เกิดความโปร่งใสในการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น

3. ความยุติธรรม (Fairness) เริ่มตั้งแต่การวางนโยบาย เพื่อให้บุคลากรแต่ละฝ่ายปฏิบัติต่อผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักการที่ชัดเจน

4. ความโปร่งใส (Transparency) หมายถึง การเปิดเผยข้อมูลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลา โดยมีองค์ประกอบย่อย 3 ประการ คือ หลัก 3C ประกอบด้วย C ที่ 1 Clear ข้อมูลต้องชัดเจนตรงไปตรงมา ไม่คลุมเครือจนอาจถูกตีความผิด ๆ C ที่ 2 Consistent มีความสม่ำเสมอในการเปิดเผยข้อมูลแต่ละครั้ง โดยข้อมูลจะต้องถูกจัดทำและบันทึกด้วยหลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด หากมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการจัดทำหรือบันทึกข้อมูลส่วนใด ก็ต้องแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลง และมีผลกระทบต่อข้อมูลอย่างไร C ที่ 3 Comparable สามารถเปรียบเทียบได้ด้วยข้อมูลที่จัดทำมาตรฐาน ซึ่งผู้ถือหุ้นสามารถนำไปวิเคราะห์ เปรียบเทียบกับข้อมูลจากแหล่งอื่น

และ 5. มุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Excellency) คือ ส่งเสริมการปฏิบัติอันเป็นเลิศแก่บุคลากรทุกฝ่ายและส่งเสริมให้การปฏิบัติงานทุกด้านมุ่งไปสู่ความสมบูรณ์แบบ นั่นคือ ต้องมีการวางนโยบายที่ชัดเจน หรือมีปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ

“ในการประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14 (The 14th International Anti-Corruption Conference : IACC) นั้น มีวาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของภาคธุรกิจในการดำเนินกิจกรรม CSR ตลอดจนแสดงพลังในการส่งเสริมความโปร่งใส และกิจกรรมเพื่อสังคมในการดำเนินธุรกิจด้วย ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ประกอบการธุรกิจ และองค์กรธุรกิจเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ตลอดจนผลักดันให้เกิดประเด็นสำคัญต่อสังคม เพื่อเป็นการร่วมส่งเสริมการสร้างความโปร่งใสและจิตธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในสังคมไทย” นายปานเทพกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ