นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประชาชนคนคอการเมืองคิดอย่างไรต่อข่าวคลิปวิดีโอเกี่ยวข้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า หลังมีข่าวคลิปวิดีโอเกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ประชาชนที่ถูกศึกษาเกินครึ่งหรือร้อยละ 52.2 ระบุความนิยมที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์เหลือน้อยถึงไม่นิยมเลย ในขณะที่ร้อยละ 47.8 ยังคงนิยมมากถึงมากที่สุด
แต่ที่น่าพิจารณาคือ ข่าวคลิปวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้ในกลุ่มคนคอการเมืองที่เป็นพลังเงียบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.8 กลายเป็นกลุ่มที่มีความนิยมน้อยถึงไม่นิยมเลยต่อพรรคประชาธิปัตย์ ในขณะที่กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.8 ยังคงนิยมพรรคประชาธิปัตย์ระดับมากถึงมากที่สุด และในกลุ่มที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.9 นิยมพรรคประชาธิปัตย์ระดับน้อยถึงไม่นิยมเลย
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.0 คิดว่า ข่าวคลิปวิดีโอมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม ในขณะที่ ร้อยละ 46.0 ระบุไม่กระทบ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อจำแนกตามจุดยืนทางการเมือง พบว่า กลุ่มที่เป็นพลังเงียบส่วนใหญ่หรือร้อยละ 62.0 และกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 ระบุว่า ข่าวคลิปวิดีโอกระทบต่อความเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม อย่างไรก็ตาม กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 ระบุไม่กระทบ
นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.7 ระบุผลกระทบต่อการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ เพราะการทำงานจะไม่ต่อเนื่อง และเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เปลี่ยนนโยบายใหม่ ทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ และเกรงว่าบ้านเมืองจะวุ่นวาย ในขณะที่ร้อยละ 40.3 ระบุไม่มีผล เพราะ ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นผลงานชัดเจน ไม่มีอะไรดีขึ้น และพรรคอื่นก็ต้องเข้ามาดำเนินการได้
ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.5 มองว่า “จำเป็น" ที่กระบวนการยุติธรรมต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ไม่มีการเลือกปฏิบัติในการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์
นายนพดล กล่าวว่า “กลุ่มพลังเงียบกำลังเปลี่ยนทิศ" จากที่เคยอยู่ตรงกลางไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เริ่มแสดงตนออกมาให้เห็นว่า เชื่อถือและนิยมพรรคประชาธิปัตย์และกระบวนการยุติธรรมน้อยถึงไม่มีเลย จึงเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะ กลุ่มพลังเงียบ คือกลุ่ม “สวิง" ที่เป็นตัวแปรสำคัญว่า ถ้าเทคะแนนไปฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดย่อมมีผลต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศและต่ออนาคตทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ
ทั้งนี้ สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ประจำสถาบันคอร์เนลล์เพื่อภารกิจของรัฐ (Cornell Institute for Public Affairs) มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell University) ได้ทำการสำรวจกรณีศึกษาตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,056 ตัวอย่าง โดยดำเนินการวิจัยข้อมูลในช่วง 17 — 18 ตุลาคม 2553