นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะติดตามงานของรัฐบาล และคณะกรรมการบริหารพรรคได้หารือถึงการแก้ไขวิกฤติการน้ำท่วมพบว่า รัฐบาลยังไม่มีแผนรับมืออย่างเป็นระบบและประชาชนยังได้รับการช่วยเหลือที่ล่าช้า ดังนั้นที่ประชุมได้มีมติจัดตั้งศูนย์รับมือวิกฤติน้ำท่วมประเทศ(ศวน.)ขึ้น โดยมีนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ เป็นประธานศูนย์ฯ และ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ
โดยศูนย์ดังกล่าวจะทำงานในเชิงรับมือวิกฤติเตือนภัย ให้คำแนะนำ และป้องกันภัยในทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นตามมาในช่วงสัปดาห์นี้ ซึ่งพรรคเพื่อไทยจะใช้ประสบการณ์สมัยเป็นรัฐบาลที่ได้เผชิญหน้าและแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติมาแล้ว โดยเฉพาะแผนรับมือในโมเดลของอุบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานครั้งนี้
นอกจากนี้ ศวน.จะเป็นตัวแทนในการบริจาคเงินตลอดจนสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม และเปิดรับแจ้งข้อมูลร้องทุกข์ที่หมายเลขฮอตไลน์ 02-653-4040
รองโฆษกฯ เพื่อไทย กล่าวว่า ในการทำงานของศูนย์ฯ นี้จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.บรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างทันที แบ่งเป็นสายที่ 1 นำโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะกรรมการบริหารพรรค นำสิ่งของบรรเทาทุกข์ในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี สายที่ 2 นำโดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และส.ส.กทม. นำสิ่งของไปบรรเทาทุกข์ ที่พื้นที่โรงพยาบาลมหาราช อ.เมือง และ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
2.รับมือในเชิงเตือนภัย เฝ้าดูสถานการณ์จากเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แบบนาทีต่อนาทีในเชิงรุกและป้องกันในทุกพื้นที่ของประเทศ รวมทั้งรับข่าวประมวลข่าวจากสมาชิกพรรคที่มีจำนวนนับหลายล้านคน และติดตามให้การช่วยเหลือในจุดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปช่วยเหลือ
3.เป็นส่วนการเผชิญกับวิกฤติการณ์ และผลกระทบในกทม.ในทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง รวมทั้งการให้คำแนะนำเตือนภัย การปฏิบัติตัวเมื่ออุทกภัยมาถึงที่อาจทำให้เกิดการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ หรือความเสียหายต่อทรัพย์สินของชาวกทม. ตลอดสัปดาห์อันตรายตั้งแต่วันนี้- 30 ต.ค.
ด้านคณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย นำโดยนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.คลัง ได้นำเสนอ 3 มาตรการเพิ่มเติมต่อรัฐบาลในการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุอุทกภัย ประกอบด้วย 1.ขอให้รัฐบาลออกเช็คเงินสดฉุกเฉินช่วยผู้ประสบอุทกภัย 53 ผ่านธนาคารของรัฐอย่างน้อยครอบครัวละ 5,000 บาท ซึ่งเมื่อประเมินจากผู้ประสบภัย 4 แสนครอบครัว จะคิดเป็นงบประมาณราว 2 พันล้านบาท
2.จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการทำงาน ลดความซ้ำซ้อน และ 3.รัฐบาลต้องดูแลราคาสินค้าไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสขึ้นราคา หรือกักตุนสินค้า นอกจากนี้ต้องจัดเตรียมเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ให้เพียงพอต่อการป้องกันโรคระบาดที่จะตามมาจากปัญหาน้ำท่วม