ครม.วันนี้พิจารณาวาระสำคัญแนวทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย

ข่าวการเมือง Tuesday October 26, 2010 09:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ คณะกรรมการอำนวยการติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่มีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นประธาน และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย จะเสนอมาตรการและความช่วยเหลือการรับมือน้ำท่วม ให้พิจารณา 3 เรื่อง คือ การดูแลการใช้จ่ายเงินช่วยน้ำท่วม ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส และมาตรการเฉพาะหน้า เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย และการเตรียมเครื่องมือ และอุปกรณ์ ที่ต้องของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อนำไปซื้อ เต็นท์ กระสอบทราย และเรือท้องแบนด้วย ในการบรรเทาความเดือดร้อน

ขณะที่กรมชลประทานจะรายงานถึงสถานการณ์และแผนบริหารจัดการน้ำทั้งหมด

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และกรมบัญชีกลางร่วมกันแก้ไขระเบียบหลักเกณฑ์ การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม เพื่อเสนอครม. วันนี้ พิจารณาช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้สามารถจ่ายเงินชดเชยทรัพย์สิน และพื้นที่การเกษตรให้แก่ประชาชนที่เดือดร้อนมากกว่าหลักเกณฑ์ปกติ เบื้องต้นจะเน้นในพื้นที่ที่น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำท่วมขังนาน หากพื้นที่ประสบภัยใดน้ำเริ่มลดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว รัฐบาลก็จะมีการจ่ายเงินช่วยเหลือทันที

ขณะเดียวกัน คาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำข้อมูลและหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเข้าสู่การพิจารณา

และ นายกรัฐมนตรีเห็นว่าขณะนี้มีข้าวได้รับความเสียหายจำนวนมาก ดังนั้น จะมีการทบทวนยุทธศาสตร์การระบายข้าว แทนที่จะเร่งระบายข้าวออกจากสต๊อค ก็จะชะลอเอาไว้ก่อนเพื่อดูสถานการณ์ผลผลิต อีกทั้งจะนำข้าวมาช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยด้วย ซึ่งยอมรับว่าการส่งสัญญาณนี้จะมีผลต่อราคาข้าว

ด้านกระทรวงพาณิชย์จะเสนอขอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอขอปรับปรุงหลักเกณฑ์การใช้เงินในโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ และธุรกิจ ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดศูนย์ฟื้นฟูในการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้ธุรกิจไปแล้วในพื้นที่ 32 จังหวัด โดยการขอการปรับปรุงเกณฑ์การใช้เงินดังกล่าวจะเป็นการขอใช้งบประมาณในโครงการส่วนที่เหลือจำนวน 1,600 ล้านบาท ในโครงการเรนโบว์โปรเจ็คต์ เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ

ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ปล่อยสินเชื่อตามวงเงินดังกล่าวในอัตราผ่อนปรน MLR -3 ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขาดรายได้ทั้งในช่วงระหว่างน้ำท่วมและหลังน้ำท่วม และเป็นการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการได้ทันที

ด้านกระทรวงคมนาคมของบประมาณ 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยทั้งหมด เช่น ทางรถไฟ ถนน สะพานรวมทั้งเกาะกลางถนนที่ได้รับความเสียหายจากการที่ถูกน้ำพัดพัง และจะรายงานสถานการณ์ความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ในส่วนของกรมทางหลวงชนบทกรมทางหลวง และการรถไฟแห่งประเทศไทย เบื้องต้นจะเร่งซ่อมแซมระบบขนส่งต่างๆ ก่อน โดยใช้งบประมาณฉุกเฉินของกระทรวง หน่วยงานละ 100 ล้านบาทส่วนความเสียหายโดยรวมจะประเมินอีกครั้งหลังน้ำท่วมคลี่คลาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ