เลขาฯยูเอ็นหวังสอบเหตุชุมนุมเสื้อแดงโปร่งใส/แนะพม่าปล่อยนักโทษการเมืองก่อนเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Tuesday October 26, 2010 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ(UN) แถลงการณ์ร่วมกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยยืนยันว่า เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในประเทศไทยช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมานั้น UN มองว่าควรเป็นเรื่องภายในของประเทศไทย และควรได้รับการแก้ไขกันเองเป็นการภายใน โดยหวังว่าเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะมีการสืบสวนสอบสวนอย่างโปร่งใส รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ต้องได้รับการตรวจสอบด้วย

เลขาธิการ UN ยังได้ชื่นชมนายกรัฐมนตรีของไทยในการเป็นผู้นำเรื่องสิทธิมนุษยชน พร้อมกับขอความร่วมมือจากไทยให้ช่วยส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงเข้าไปมีส่วนช่วยยับยั้งอาชญากรรมในเฮติ โดยเฉพาะกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ

พร้อมกันนี้ ยังแสดงความเสียใจกับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัย และเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ ซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ระหว่างไทยกับอาเซียน รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย

ส่วนการเดินหน้าการเลือกตั้งของประเทศพม่าในวันที่ 7 พ.ย.นั้น เลขาธิการ UN เชื่อว่าการเลือกตั้งดังกล่าวจะมีความโปร่งใส ยุติธรรมและน่าเชื่อถือ พร้อมมองว่ายังไม่สายเกินไปหากจะมีการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายมากขึ้น และหวังว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ถือเป็นการทดสอบประเทศพม่าว่าจะสามารถบรรลุความคาดหวังของประชาคมโลกได้อย่างไร

ด้านนายอภิสิทธิ์ ได้รายงานถึงการเดินทางไปเยือนพม่าต่อเลขาธิการ UN ว่า ได้โน้มน้าวให้พม่าช่วยเพิ่มบทบาทของ UN ในการเข้าไปช่วยเหลือประเทศพม่ามากยิ่งขึ้น รวมถึงรายงานถึงการหารือกับประเทศกัมพูชา ซึ่งขณะนี้ความสัมพันธ์ได้ดีขึ้นเป็นลำดับ ส่วนปัญหาตามแนวชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชานั้น ได้ยืนยันว่าจะยึดหลักการแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีและมีมาตรการเสริมสร้างความเข้าใจในกรอบทวิภาคี

นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับ UN ได้มีการพัฒนาการสร้างกลไก โดยไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความร่วมมือทางทะเลในการต่อต้านโจรสลัด รวมถึงความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนในการป้องกันภัยพิบัติในอนาคต

ทั้งนี้ ในการหารือ ได้พูดคุยในกรอบการเป็นหุ้นส่วนกับ UN ซึ่งไทยจะนำความเชี่ยวชาญในการพัฒนาในกรอบของ UN ช่วงปี 2012-2016 มาพัฒนาปรับปรุงให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ