นายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทย และทนายความของคนเสื้อแดง กล่าวถึงการเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อให้ไต่สวนและดำเนินคดีกับตุลาการรัฐธรรมนูญจำนวน 4 คนที่มีพฤติการณ์แต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดของตนเองดำรงตำแหน่งเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ
สืบเนื่องมาจากมีข้อเท็จจริงปรากฎว่าตุลาการรัฐบาล 4 คนประกอบไปด้วย นายบุญส่ง กุลบุปผา, นายสุพจน์ ไข่มุกต์, นายเฉลิมพล เอกอุรุ และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี มีพฤติการณ์ที่ส่อว่าน่าจะกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม
"การที่ตุลาการทั้ง 4 คนแต่งตั้งญาติของตนเองให้มาทำงานกับตนเองโดยกีดกันไม่ให้บุคคลอื่นมีโอกาสได้ปฎิบัติหน้าที่ดังกล่าว จึงน่าจะขัดต่อระบบคุณธรรมอย่างชัดแจ้งและไม่เป็นไปโดยสุจริต จึงเท่ากับตุลาการทั้ง 4 คนไม่ปฎิบัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 วรรค 4 ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมของตุลาการรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง ตามประกาศศาลรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมตุลาการ ข้อ 1 และข้อ 2 ซึ่งน่าจะอยู่ในข่ายต้องถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญด้วย"นายพิชากล่าว
โดยในกรณีของนายบุญส่ง และนายสุพจน์ แต่งตั้งบุตรของตัวเองให้เป็นเลขานุการ ขณะที่นายเฉลิมพล แต่งตั้งให้หลานเป็นผู้ช่วยเลขานุการของตนเอง หลังจากนั้นได้พยายามผลักดันให้เป็นข้าราชการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
นอกจากนี้ บุตรของนายบุญส่ง หรือ นายทนายรัฐ กุลบุปผา นั้นหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นเลขานุการแล้วได้ไปเรียนหนังสือต่อที่ต่างประเทศโดยไม่ได้มาปฎิบัติงานประจำที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ระหว่างการศึกษาในต่างประเทศนายทนายรัฐ ยังได้รับเงินเดือนและผลตอบแทนตามปกติทุกเดือน ส่วนบุตรชายนายสุพจน์นั้นได้นำเวลาส่วนใหญ่ไปขายกาแฟอยู่ใต้ตึกศูนย์ราชการ อาคารบี ทั้งที่ได้รับเงินเดือนและผลตอบแทนเต็มจำนวน ซึ่งเรื่องนี้ได้มีการยื่นคำร้องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว
ส่วนนายอุดมศักดิ์นั้นได้แต่งตั้งให้หลาน 2 คนมาเป็นเลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งบุคคลที่เป็นญาติของตุลาการทั้ง 4 ต่างได้รับเงินเดือนและผลตอบแทนในอัตราที่สูง