นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) กล่าวภายหลังการเข้าพบของนายชวนนท์ อินทรโก มาลย์สุต เลขานุการ รมว.ต่างประเทศว่า ผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรที่ปักหลักหน้ารัฐสภาในวันนี้เพื่อคัดค้านการลงมติรับรองบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม(JBC)ไทย-กัมพูชา 3 ฉบับ จะยินยอมสลายตัวไปก่อน หลังจากการประชุมร่วมรัฐสภาวันนี้ยังไม่มีการลงมติ และจะมีการตั้งกรรมาธิการร่วมฯขึ้นมาพิจารณาข้อตกลง JBC ทั้ง 3 ฉบับ
ทั้งนี้ นายสนธิ กล่าวว่า นายชวนันท์ระบุว่าจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความเห็นในคณะกรรมาธิการด้วย เพื่อให้ข้อตกลง JBC ดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และมีโอกาสที่จะแก้ไขในประเด็นที่ประชาชนไม่เห็นด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลใจกว้าง มีน้ำใจ ยอมรับฟังความคิดเห็น
นายสนธิ กล่าวว่า ในระหว่างการพูดคุยกันก็ได้ยบอกกับนายชวนนท์ให้ไปแจ้งกับรัฐบาลว่า การพิจารณาของกรรมาธิการร่วมฯ ควรจะได้ข้อยุติภายใน 30 วัน เพราะกลุ่มพันธมิตรฯ กำหนดว่าจะมีการนัดชุมนุมใหญ่เพื่อคัดค้านเรื่องนี้ในวันที่ 11 ธ.ค. หากได้ข้อยุติก่อนและเป็นที่พอใจ การชุมนุมวันที่ 11 ธ.ค.ก็อาจจะไม่เกิดขึ้น
"ถ้ามติกรรมาธิการร่วมออกมาไม่เป็นที่พอใจ เราจะนัดชุมนุมใหญ่วันที่ 11 ธ.ค. ที่ถนนราชดำเนิน และสะพานมัฆวาน"นายสนธิ กล่าว
แต่ขณะนี้กลุ่มผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภาจะรอฟังท่าทีของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันนี้ก่อนเพื่อให้เห็นผลการพิจารณาที่เป็นรูปธรรม เพราะไม่เชื่อคำพูดของนายกรัฐมนตรีคนนี้อีกแล้ว โดยจะรอดูจนกระทั่งมีการเสนอเรื่องขอตั้งกรรมาธิการ และกำหนดกรอบเวลาออกมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่นายชวนนท์เดินออกมาพบกับนายสนธิ ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมตะโกนว่านายชวนนท์ว่าขายชาติ
นายวศิน ธีระเวชญาณ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธาน JBC เปิดเผยว่า เป็นสิทธิที่พันธมิตรฯจะมาชุมนุมได้ แต่ยอมรับว่าหนักใจหากกรอบ JBC ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาฯ ซึ่งก็ต้องพยายามทำความเข้าใจกันต่อไป ทั้งนี้ไม่แน่ใจว่าบรรยากาศการประชุมสภาในวันนี้จะสามารถผ่านความเห็นชอบได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวหวังว่าจะสามารถผ่านไปได้
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม เห็นว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถควบคุมสถานการณ์และดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ และเชื่อว่าจะไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นเนื่องจากได้มีการพูดคุยให้ปฏิบัติตามกรอบของกฏหมาย
ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ได้มีการประชุมเพื่อเตรียมแผนการปฏิบัติงานตามขั้นตอนของกฏหมาย แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เตรียมแผนการรองรับหากมีเหตุการณ์วุ่นวายเกิดขึ้นกับรัฐมนตรี และ ส.ส.หากกลุ่มพันธมิตรฯ จะบุกเข้ามาในรัฐสภา เพราะเชื่อว่าสามารถพูดคุยกันได้และเหตุการณ์ดังกล่าวคงจะไม่เกิดขึ้นอีก