(เพิ่มเติม1) ศาลฯ ตัดสิน 6 ส.ส.ถือหุ้นต้องห้าม-ขัด รธน."เกื้อกูล-บุญจง"ติดกลุ่ม

ข่าวการเมือง Wednesday November 3, 2010 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ให้ ส.ส.จำนวน 6 คนกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 265 จากกรณีการเข้าไปถือหุ้นในกิจการที่รับสัมปทานรัฐและกิจการสื่อหลังจากเข้ามารับตำแหน่ง ส.ส. ซึ่งถือเป็นการกระทำต้องห้าม จึงมีผลให้สมาชิกภาพสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย

สำหรับ 6 ส.ส.มีทั้งกรณีที่เข้าไปถือหุ้นด้วยตัวเอง หรือคู่สมรสเข้าไปถือหุ้น ได้แก่ นายสมเกียรติ ฉันทวานิช ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ถือหุ้น บมจ.ปตท.(PTTEP) และบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP), นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ส.ส.อยุธยา พรรคชาติไทยพัฒนา คู่สมรสถือหุ้น PTTEP

,นางมลิวัลย์ ธัญญสกุลกิจ ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้น PTTEP , นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย คู่สมรสถือหุ้น ปตท.สผ., ร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ถือหุ้น PTTEP และบมจ.อสมท(MCOT) ส่วน ม.ร.ว.กิติวัฒนา(ไชยันต์) ปกมนตรี ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อแผ่นดิน ถือหุ้น บมจ.ทีทีแอนด์ที(TT&T)

ทั้งนี้ นายเกื้อกูล ปัจจุบันเป็น รมช.คมนาคม และ นายบุญจง เป็น รมช.มหาดไทย

ส่วน ส.ส.ที่เหลืออีก 23 คน และ ส.ว.ทั้ง 16 คน ศาลฯ เห็นว่าไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า กรณีการถือครองหุ้นของ ส.ส.ทั้ง 6 คน และคู่สมรส เป็นการถือครองภายหลังจากได้รับเลือกเข้ามาเป็น ส.ส.แล้ว จึงเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อว่าบริษัทที่ถือหุ้นอยู่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 50 ตามมาตรา 265 วรรค 1 (2)(4) และวรรค 3 ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 48 หรือไม่

ศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการถือหุ้นใน PTT นั้น เนื่องจากประกอบกิจการค้าขายเชื้อเพลิง แม้จะไม่ได้รับสัมปทานหรือเป็นคู่สัญญากับรัฐอันมีลักษณะผูกขาดตัดตอนก็ตาม แต่ PTT เป็นบริษัทที่ลงทุนในบริษัทอื่น หรือโฮลดิ้งคอมปานี เช่น ถือหุ้นใน PTTEP 65.42% และ PTTEP รับสัมปทานจากกระทรวงพลังงานในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน รวมทั้งการที่ PTT ถือหุ้น 49.16% ในบมจ.ปตท.เคมีคอล(PTTCH) ที่ได้รับสัมปทานจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาและไฟฟ้า

ดังนั้น PTTEP และ PTTCH จึงเป็นบริษัทที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ การถือหุ้นใน PTT จึงถือว่าเป็นการถือหุ้นในบริษัทต้องห้ามทางอ้อม

ส่วนการถือหุ้นใน TT&T ที่ประกอบกิจการให้บริการโทรศัพท์โดยรับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐ และยังประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วย จึงถือเป็นบริษัทที่มีลักษณะต้องห้ามเช่นกัน

ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญได้ห้ามการถือหุ้นในบริษัทต้องห้าม โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องถือหุ้นในจำนวนเท่าใด และไม่ระบุว่าจะมีอำนาจการบริหารงานหรือครอบงำกิจการหรือไม่ ดังนั้น การถือหุ้นแม้เพียง 1 หุ้น ก็ย่อมเป็นการถือหุ้นตามความหมายของรัฐธรรมนูญแล้ว แม้ว่าผู้ถือหุ้นจะไม่มีอำนาจบริหาร หรือครอบงำกิจการก็ตาม

การที่บัญญัติห้ามการถือหุ้นไว้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส.ส.และ ส.ว.มีช่องทางที่จะใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งการถือหุ้นของ ส.ส.ทั้ง 6 แม้จะเป็นการซื้อในตลาดหลักทรัพย์และลงทุนระยะสั้นแค่เก็งกำไรก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนกรณีการถือหุ้นไว้ก่อนมีการเลือกตั้ง หรือก่อนที่จะมีสมาชิกภาพเป็น ส.ส.และ ส.ว.ไม่ถือเป็นการกระทำต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก 6 ต่อ 2 ว่าการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ต้องเป็นการกระทำหลังจากมีสมาชิกภาพแล้ว โดยไม่รวมการถือหุ้นที่มีมาก่อนการเลือกตั้ง

อนึ่ง คดีนี้ประธานวุฒิสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กรณีสมาชิกภาพของ 16 ส.ว. และ 29 ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 119(5) และ 106(6) เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 265(2) (4) ถือครองหุ้นในธุรกิจสื่อ และบริษัทที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐหรือไม่

ขณะที่ผู้ถูกร้องประกอบด้วย ส.ว. 16 คน และ ส.ส.อีก 29 คน ได้แก่ ส.ส.จากพรรคประชาธิปัตย์ 13 คน, เพื่อไทย 8 คน, เพื่อแผ่นดิน 3 คน, ภูมิใจไทย 2 คน, ประชาราช 2 คน และชาติไทยพัฒนา 1 คน โดยในจำนวนนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง ส.ส.สุราษฎร์ธานี ไปก่อนหน้านี้แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ