นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ปาฐกถาเรื่อง "คุณภาพสังคมกับคุณภาพประชาธิปไตย(Social Quality and Quality of Thai Democracy)" ว่า การพัฒนาสังคม รวมถึงการพัฒนาประชาธิปไตยให้มีคุณภาพต้องประกอบไปด้วย ด้านความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งเชื่อว่าหากมีการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคม จะมีส่วนช่วยใหนการวางรากฐานความแข็งแกร่งของประชาธิปไตยไปในตัวด้วย
ทั้งนี้ รัฐบาลมีทิศทางที่ชัดเจนอยู่แล้ว ว่าจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้บนพื้นฐานของประชาชน ในเรื่องของสิทธิและสวัสดิการ ซึ่งรัฐบาลตั้งใจว่าจะจัดระบบสวัสดิการล่วงหน้าให้เกิดขึ้นภายใน 6 ปีข้างหน้า
ในส่วนของการการยอมรับสมาชิกภาพของบุคคลแต่ละบุคคลของคนในสังคมนั้น มองว่าจำเป็นต้องดูแลประชาชนที่อยู่นอกระบบแรงงานให้มีระบบสวัสดิการที่เท่าเทียมกัน เพราะคนเหล่านี้มักตกเป็นเหยื่อในการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ รวมถึงมักถูกนำไปหยิบยกไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองด้วย ซึ่งหากสามารถแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ได้ ก็อาจลดการถูกรังแกโดยใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ได้
นอกจากนี้ การเสริมสร้างอำนาจและพลังทางสังคมในภาคประชาชนให้เกิดความเข้มแข็ง ซึ่งแนวทางดังกล่าวต้องเน้นการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพ โดยลดอำนาจของรัฐและเพิ่มอำนาจของประชาชน แนวทางของรัฐบาลคือต้องทำงานร่วมกัน ส่งเสริมธรรมาภิบาล ไม่ใช่เฉพาะภาคการเมืองเท่านั้น แต่ต้องส่งเสริมธรรมาภิบาลในส่วนของภาคธุรกิจ ราชการ เอกชน และประชาชนควบคู่ไปด้วย
นายกฯ กล่าวต่อว่า ต้องเน้นการสร้างความสมานฉันท์ทางสังคม เน้นการเอื้ออาทร สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ซึ่งหัวใจหลักในการสร้างความปรองดอง ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ สังคมต้องมีกติกาพื้นฐาน ที่เคารพร่วมกันโดยยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมายังมีคำว่าสองมาตรฐานอยู่ในระบบ แต่กระบวนการปรองดองต้องลดความเหลื่อมล้ำ และให้ความเป็นธรรมในสังคมมากยิ่งขึ้น
ทางด้านความคิดความแตกต่างเชิงนโยบายหรือวิสัยทัศน์ จำเป็นต้องใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยผ่านกระบวนการรัฐสภาเป็นกลไกสำคัญที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนในการตัดสินใจ
อีกทั้ง ต้องเร่งสร้างค่านิยมการปฏิเสธความรุนแรง เพราะทุกวันนี้สังคมไทยยังวนเวียนอยู่กับความขัดแย้งไม่จบไม่สิ้น
"ถ้าหากดำเนินการได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะมีส่วนช่วยพัฒนาสังคมอย่างแท้จริง"นายอภิสิทธิ์ กล่าว
พร้อมระบุว่ารัฐบาลมีการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางประเด็น และเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งคงจะมีการนำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปหารือกันต่อไป
"แนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญผมคาดว่าจะมีการผลักดันได้ในบางประเด็นและหลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว คงจะได้มีการนำประเด็นต่างๆมาหารือกันต่อไป"
นายกฯ ระบุว่า ตนเองคงจะไม่อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปตลอดกาล แต่หวังว่ายังมีอาชีพที่สอง ที่จะดูแลตัวเองและครอบครัว แต่หากสามารถพัฒนาระบบการเมืองและสังคมในระบอบประชาธิปไตยให้มีคุณภาพเกิดขึ้นจริง ก็จะมีส่วนช่วยทำให้การพัฒนาสังคมมีคุณภาพได้ และหวังว่าการทำรัฐประหารหรือความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นคงจะเป็นครั้งสุดท้าย และจะไม่เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกต่อไป