นายกฯ เดินหน้าปรองดองสมานฉันท์พัฒนาการเมือง-หนุนเศรษฐกิจเติบโต

ข่าวการเมือง Friday November 5, 2010 18:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวบรรยายเรื่อง"เศรษฐกิจกับการเมืองไทย"แก่ผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง โดยได้แสดงความมั่นใจว่า แนวทางสร้างกระบวนการปรองดองสมานฉันท์และกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยยังเดินหน้าไปได้ และอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง พร้อมทั้งเชื่อว่าจะหาเวลาที่เหมาะสมเพื่อกลับไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ โดยจะพยายามรักษาแนวทางที่ทำเอาไว้

"ผมเชื่อว่าแนวทางที่เดินอยู่ จำเป็นต้องทำ และจะเดินตามแนวทางนี้และจะพยายามหาเงื่อนจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะกลับไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่เป็นการเลือกตั้งที่เป็นธรรม เป็นการเลือกตั้งที่สงบ" นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าแนวทางที่ดำเนินการอยู่อาจจะยังไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มที่ เพราะอาจมีบางเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุม โดยยืนยันว่าหากแนวทางที่เดินอยู่ไม่สามารถตอบสนองประชาชนได้ ก็คงต้องมีคนอื่นมาทำหน้าที่ต่อไป

สำหรับแนวทางในการพัฒนาประชาธิปไตยที่กำลังผลักดันนั้น เน้นในเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ลดเงื่อนไขความขัดแย้งในสังคม โดยเชื่อว่าหากทุกคนอยู่บนความพอดี ก็จะถือว่าเป็นเสียงดังที่ทำให้ลดความขัดแย้งลงได้ แต่เมื่อไหร่หากยังมีความคิดที่สุดโต่ง ความขัดแย้งก็จะไม่จบไม่สิ้น

พร้อมทั้งจะเดินหน้าในการทำให้ทุกฝ่ายยอมรับในความหลากหลายและทุกฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้างความสมานฉันท์ปรองดอง

อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะนี้อาจจะมีเงื่อนไขทั้งความไม่สงบทางด้านการเมืองในช่วงเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ แต่การประเมินตัวเลขทางเศรษฐกิจ ยังเชื่อว่ายังอยู่ในระดับ 7-8% ซึ่งถือว่าสูงกว่าประเทศ ต่างๆ ในภูมิภาคนี้ และการฟื้นตัวหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจในขณะนี้อัตราเงินเฟ้อก็ถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่สูง เงินสำรองในประเทศก็ยังมีมาก หนี้สาธารณะก็อยู่ในระดับต่ำประมาณ 43% ของ GDP เท่านั้น

แต่ความท้าทายเศรษฐกิจไทยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้ายังมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นการรับมือการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจโลก โดยจะเห็นได้ชัดขณะนี้ว่ามีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะหวังจะเข้ามาเก็งกำไร โดยไหลเข้ามาทั้งตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมีเฉพาะนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น นักลงทุนไทยเองก็มีความพยายามเก็งกำไรเหมือนกัน จึงมีผลให้เกิดการแข็งค่าของค่าเงินบาท

"ความยากไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัญหาค่าเงินบาท แต่เป็นปัญหาของเงินดอลลาร์ที่เข้ามารวมกับค่าเงินหยวน เชื่อว่าหากสามารถแก้ปัญหาตรงจุดนี้ก็จะมีส่วนช่วยค่าเงินในภูมิภาคของเราด้วย"นายกรัฐมนตรี กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัจจัยภัยธรรมชาติหรือความผันผวทางด้านภูมิภาค

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ในระยะยาวการพัฒนาเศรษฐกิจเรื่องปัจจัยพื้นฐาน ต้องประกอบไปด้วยการเพิ่มความสามารถทางด้านการแข่งขัน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

"เชื่อว่าหากปัจจัยทั้งหมดถ้ารัฐบาลยังสามารถพัฒนาการมีส่วนร่วมและการแสวงหาความพอดีจะมีส่วนสำคัญทำให้เศรษฐกิจไทยยังเติบโตไปได้" นายกรัฐมนตรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ