นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดสายรับโทรศัพท์ "3 วัน สร้างสรรค์ความเข้มแข็งประชาธิปไตย"ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย.53 ให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านหมายเลข 0 2282 3333 (50 คู่สายอัตโนมัติ) ตั้งแต่เวลา 10.00 - 18.00 น. เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจกำหนดแนวทางการสร้างความเข้มแข็งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ได้นำเสนอประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จำนวน 6 ประเด็น
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมกับประชาชนในการสร้างความเข้มแข็งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการจัดงานดังกล่าว
สำหรับประเด็นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 การทำหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา (มาตรา 190) , ประเด็นที่ 2 ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 93-98) , ประเด็นที่ 3 ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (มาตรา 111-121) , ประเด็นที่ 4 การห้ามดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา (มาตรา 265) , ประเด็นที่ 5 การห้ามสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาแทรกแซงการทำงานของฝ่ายบริหาร (มาตรา 266) และ ประเด็นที่ 6 การยุบพรรคการเมืองและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมือง (มาตรา 237)
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า ในส่วนของคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาข้อเสนอ 6 ประเด็นที่ได้เป็นข้อสรุปเบื้องต้นแล้วและเห็นว่า โดยที่จะมีการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาและจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปีหน้า ขณะเดียวกันยังคงมีประเด็นทางการเมืองที่วิพากษ์วิจารณ์ในกรณีที่มีการไปแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่อาจจะเกี่ยวข้องกับประโยชน์ของรัฐบาลหรือพรรคการเมืองโดยตรง จึงเห็นว่าประเด็นเร่งด่วน 2 ประเด็นคือมาตรา 190 กับระบบการเลือกตั้ง น่าจะได้มีการดำเนินการก่อน ซึ่งคาดว่าในวันที่ 16 พ.ย.นี้ คณะรัฐมนตรีคงสามารถให้ความเห็นชอบร่างฯ และจะได้นำเสนอต่อรัฐสภาต่อไป
ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญได้เป็นประเด็นความขัดแย้งประการหนึ่งของการเมืองในระยะที่ผ่านมา ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาลุกลามถึงขั้นวิกฤตทางการเมือง และเหตุการณ์ความรุนแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องความคิดเห็นที่แตกต่างที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ หรือเกี่ยวข้องกับการเมืองต้องถือเป็นเรื่องปกติ แต่ความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ควรนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งที่ลุกลามถึงขั้นที่มีความรุนแรงและความสูญเสียที่เกิดขึ้นในสังคม ฉะนั้นประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความคิดเห็นที่หลากหลาย เป็นเรื่องที่จำเป็นที่จะต้องหาข้อยุติ เพื่อที่จะทำให้ระบบการเมืองเดินหน้าต่อไปภายใต้ภาวะที่มีความเป็นปกติ และไม่เป็นปมปัญหาของความขัดแย้งต่อไป
"แน่นอนที่สุดการรับฟังความคิดเห็นคงไม่ได้หมายความว่าทุกความเห็นนั้นจะสามารถมาเป็นข้อสรุป ข้อยุติ ตามความต้องการของทุกคนที่แสดงความคิดเห็น ความสำคัญของการดำเนินการในเรื่องนี้จะอยู่ที่ทางคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการที่จะได้สังเคราะห์ความคิดเห็นที่มีความหลากหลาย ให้ดีที่สุด ที่มีความมั่นใจได้ว่าเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่" นายกรัฐมนตรี กล่าว