ผ่านพ้นไปแล้วกับการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปีของพม่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา และผลการเลือกตั้งก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากที่ใครต่อใครทำนายไว้ เมื่อล่าสุดในวันอังคาร พรรคฝ่ายค้านหลัก 2 พรรคที่สนับสนุนประชาธิปไตยได้ออกมายอมรับความพ่ายแพ้แล้ว หลังจากที่พรรคสหภาพเพื่อเอกภาพและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party หรือ USDP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองใหญ่สุดที่มีความใกล้ชิดกับพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ผู้นำสูงสุด ของรัฐบาลทหารพม่า ระบุว่า ทางพรรคสามารถกวาดที่นั่งในการเลือกตั้งได้ราว 80% แม้ว่ายังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการออกมาก็ตาม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายจับตาในขณะนี้ ไม่ใช่ผลการเลือกตั้ง (ที่แบเบอร์ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม) แต่เป็นสถานการณ์การเมืองในพม่าที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้
รัฐบาลพม่าประกาศว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยพลเรือน แต่นักสังเกตการณ์กลับมองว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเพียงการจัดฉากที่ไม่แนบเนียนและไม่ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรมาก นอกเสียจากเป็นการปูทางให้ทหารอยู่ในอำนาจต่อไปอย่างชอบธรรมเท่านั้น
ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าได้จัดแจงตระเตรียมบทบาทของทหารหลังการเลือกตั้งเอาไว้แล้ว ดังเห็นได้จากรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นใหม่ได้มีการกำหนดให้สมาชิกส่วนหนึ่งของแต่ละสภา (พม่ามีทั้งหมด 3 สภา ได้แก่ สภาผู้แทนราษฎรแห่งชาติ สภาสูง และสภาท้องถิ่น) จะต้องมาจากการแต่งตั้ง กล่าวคือจะมีการกันที่นั่ง 25% ในทั้ง 3 สภาไว้สำหรับทหาร อีกทั้งยังมีการกำหนดด้วยว่า กฎหมายใหม่ทุกฉบับต้องได้เสียงข้างมาก 75% ดังนั้นกลุ่มทหารจึงมีอำนาจออกเสียงคัดค้านได้อย่างเต็มที่
นอกจากนั้น การเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ พรรคการเมืองหลัก 2 พรรคที่ร่วมส่งผู้สมัครลงชิงชัย ยังมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับรัฐบาลทหารพม่าเป็นอย่างดี โดยพรรคสหภาพเพื่อเอกภาพและการพัฒนา (USDP) มีพล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรค และส่งผู้สมัครลงชิงชัยทุกที่นั่ง ซึ่งผู้สมัครหลายคนก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นนายทหารระดับสูงที่ถอดเครื่องแบบมาลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคนั้นเอง ขณะที่พรรคเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Party หรือ NUP) ซึ่งส่งผู้สมัครมากเป็นอันดับ 2 ก็ถือเป็นพรรคเก่าแก่ที่สืบทอดมาจากพรรคของนายพลเนวิน อดีตผู้นำเผด็จการผู้ล่วงลับ ดังนั้นจึงเท่ากับว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่จะเข้าไปนั่งอยู่ในสภา จึงเป็นตัวแทนของรัฐบาลทหารปัจจุบันนี่เอง
ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญยังกำหนดให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นผู้ทำหน้าที่คัดสรรบุคลากรในกองทัพที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งเจ้ากระทรวงสำคัญ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือ มีความเป็นไปได้สูงว่า พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดวัย 77 ปี ซึ่งไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภาอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผลการเลือกตั้งที่ออกมาจะสมดังใจหวัง แต่รัฐบาลทหารพม่า ก็ต้องเผชิญกับความกดดันรอบด้านจากทั้งในและนอกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ความท้าทายหนึ่งที่พม่าต้องตั้งรับทันทีหลังการเลือกตั้งก็คือ ความขัดแย้งกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในประเทศ
ทั้งนี้ พม่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์มากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย โดย 60% ของประชากรเป็นชาวพม่า และอีกกว่า 40% เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากหลากหลายกลุ่ม ซึ่งได้แก่ ไทยใหญ่ มอญ ยะไข่ กะเหรี่ยง คะฉิ่น ชิน ว้า เป็นต้น
นับตั้งแต่ที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษในปีพ.ศ.2491 (ค.ศ.1948) ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ ซึ่งมีกองกำลังเป็นของตนเอง อาทิ ชนกลุ่มน้อยในรัฐฉานและคะฉิ่น บริเวณชายแดนจีน ตลอดจนชาวกะเหรี่ยงและมอญ บริเวณชายแดนไทย ต่างพยายามต่อสู้กับรัฐบาลกลางซึ่งปกครองโดยชนชาติพม่า เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองตนเอง
แต่การเรียกร้องอิสรภาพที่เป็นยอดปรารถนาของเหล่าชนกลุ่มน้อย กลับไม่เคยได้รับการตอบสนอง หนำซ้ำสิ่งที่พวกเขาได้รับเป็นการตอบแทนก็คือ การถูกกดขี่ข่มเหงต่างๆนานา อีกทั้งยังถูกบังคับให้สลายกองกำลังและแปลงสถานะไปเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force หรือ BGF) ที่ขึ้นตรงกับกองทัพพม่า
ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธขนาดเล็กบางกลุ่มที่ทานอำนาจของกองกำลังทหารพม่าไม่ไหว จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากยอมทำข้อตกลงสงบศึกกับรัฐบาล แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ซ่องสุมกำลังไว้มาก และยืนหยัดที่จะจับอาวุธต่อสู้กับกองกำลังทหารพม่าต่อไป ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึง กองทัพเอกราชคะฉิ่นที่มีกองกำลังราว 7,000 คน กลุ่มกองทัพสหรัฐว้าที่มีนักรบราว 30,000 คน กองทัพรัฐฉานเหนือที่มีกองกำลังราว 5,000 คน กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยงที่มีนักรบราว 8,000 คน และกองทัพรัฐมอญใหม่ที่มีนักรบราว 1,000 คน
นอกจากศึกในที่ต้องรับมือแล้ว พม่ายังถูกถาโถมด้วยเสียงประณามจากมหาอำนาจของโลก อย่าง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรป เนื่องด้วยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดของพม่านี้ยังห่างไกลจากคำว่า “เสรีและเป็นธรรม" ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ การที่นักสังเกตการณ์นานาชาติและผู้สื่อข่าวต่างประเทศถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าไปทำข่าวเลือกตั้ง นอกจากนี้ ยังมีการร้องเรียนคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐถูกบังคับให้ลงคะแนนให้กับพรรค USDP ในช่วงของการเลือกตั้งล่วงหน้า ขณะที่นักโทษการเมืองกว่า 2,000 คน ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจี ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการเลือกตั้ง และรัฐบาลไม่อนุญาตให้จัดการเลือกตั้งในหลายพื้นที่ที่ควบคุมโดยชนกลุ่มน้อย
นี่เป็นตัวอย่างเพียงไม่กี่ข้อที่สะท้อนให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสของการเลือกตั้งครั้งนี้
โดยนายบัน คี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปีของพม่า ยังไม่โปร่งใสและครอบคลุมเพียงพอ นอกจากนั้นประชาชนยังมีส่วนร่วมไม่มากพอด้วย
ขณะที่ประธานาธิบดี บารัค โอบามา ของสหรัฐ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล พร้อมระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ขาดความเป็นอิสระและยุติธรรม
ด้านนายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษกล่าวว่า การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา หมายถึงการกลับสู่อำนาจอีกครั้งของเผด็จการทหาร
จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว คงเป็นเรื่องยากที่ชาติตะวันตกจะยอมยกเลิกมาตรการแซงก์ชั่นพม่า เว้นเสียแต่ว่า ...
ทั้งนี้ หากพม่ายังต้องการแสดงให้เห็นว่าจะนำประเทศเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยจริงตามที่กล่าวอ้าง พม่าก็ยังมีโอกาสพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งในวันที่ 13 พ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดการกักบริเวณนางออง ซาน ซู จี วีรสตรีเจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพวัย 65 ปี ผู้เป็นแกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่ามาเกือบค่อนชีวิต
อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า ที่ผ่านมา มาตรการลงโทษพม่าของชาติตะวันตก ไม่ได้ผล หรือ ไม่ได้ทำให้พม่าสะทกสะท้านเท่าที่ควร อันเนื่องมาจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างจีน อินเดีย ไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียนแห่กันเข้าไปลงทุนในพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่ยังมีทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ที่สุดประเทศหนึ่ง
ดังนั้น จนถึงตอนนี้ ก็ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า รัฐบาลทหารพม่าจะกล้าเสี่ยงมอบอิสรภาพให้กับนางซูจีหรือไม่ เพราะการปล่อยตัวนางซูจีย่อมมีผลสั่นคลอนความมั่นคงของรัฐบาลทหารอย่างแน่นอน