In Focusอิสรภาพของออง ซาน ซู จี กับประชาธิปไตยในพม่าที่เริ่มเบ่งบาน?

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 17, 2010 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เย็นวันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ในที่สุดเวลาที่ประชาคมโลกรอคอยก็มาถึง เมื่อรัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขผูกมัดใดๆ ซูจีปรากฏตัวในชุดประจำชาติพม่าสีม่วงอ่อน นางได้กล่าวทักทายฝูงชนที่ร้องตะโกนให้กำลังใจและร้องเพลงชาติกันอย่างมีความสุข ในที่สุดเธอก็ได้รับอิสรภาพหลังจากที่ถูกกักบริเวณอยู่แต่ภายในบ้านเกือบตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

นอกจากประชาชนชาวพม่านับล้านคนทั้งที่อาศัยอยู่ในพม่าและในต่างประเทศแล้ว ผู้นำจากทั่วโลกต่างแสดงความยินดีกับอิสรภาพที่ซูจีได้รับในครั้งนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ แสดงความยินดีกับการปล่อยตัวซูจี พร้อมเรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด ขณะที่นายบัน กี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ออกมายกย่องซูจีในฐานะที่เป็นแรงบันดาลใจของทุกคน พร้อมเรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักโทษการเมืองในประเทศทั้งหมดเช่นกัน เช่นเดียวกับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่ออกมาแสดงความยินดีกับซูจีอย่างไม่ขาดสาย ขณะเดียวกันผู้สนับสนุนซูจีจากทั่วโลกก็ได้รวมตัวกันตามสถานที่ต่างๆ เพื่อฉลองสิ่งที่อาจเรียกได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า

หนึ่งวันหลังจากได้รับอิสรภาพที่รอคอยมานาน ซูจีได้กล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรก ณ ที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี ต่อหน้าฝูงชนหลายหมื่นคน โดยเธอแสดงจุดยืนว่าจะทำงานเพื่อสร้างความปรองดองในประเทศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องได้รับการสนับสนุนอย่างมาก ดังนั้นเธอจึงขอให้กลุ่มผู้สนับสนุนทำงานร่วมกันเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ขณะเดียวกันเธอก็ยืนยันว่าไม่ได้ต่อต้านหรือเกลียดชังรัฐบาลทหารพม่าที่สั่งกักบริเวณเธอมานาน นอกจากนั้นเธอยังให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลังการปราศรัยว่า การเจรจาเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ปัญหาต่างๆในพม่าได้ ดังนั้นเธอพร้อมพบปะหารือกับแกนนำรัฐบาลทหารพม่า รวมถึงพร้อมรับฟังความคิดเห็นของชาวพม่าและกลุ่มผู้สนับสนุนจากนานาชาติว่า อยากให้เธอเดินหน้าต่อไปอย่างไร

คำปราศรัยและน้ำเสียงที่จับใจของซูจีทำให้ชาวพม่าและประชาคมโลกเกิดความหวังขึ้นอีกครั้งว่าประชาธิปไตยในพม่าอาจไม่ใช่ฝันอีกต่อไป อย่างไรก็ดี เส้นทางสู่ประชาธิปไตยในพม่าไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบอย่างแน่นอน เนื่องจากซูจีและรัฐบาลทหารพม่ายังมีแนวคิดที่ต่างกันสุดขั้วจนนึกภาพไม่ออกว่าเรื่องราวจะจบลงแบบ “แฮปปี้เอ็นดิ้ง" ได้อย่างไร เพราะฝ่ายซูจีต้องการให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลยังคงต้องการกุมอำนาจไว้เพียงผู้เดียว ดูได้จากกระบวนการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปีของพม่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเตรียมการณ์ไว้เป็นอย่างดี ตั้งแต่การสั่งกักบริเวณซูจีเพิ่ม สส่งผลให้นางได้รับอิสรภาพภายหลังการเลือกตั้งสิ้นสุดลงแล้ว นอกจากนั้นยังกันพลาดด้วยการออกกฎหมายซึ่งระบุว่าบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษามาก่อนไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งได้ ซึ่งหมายความว่าซูจีจะไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งได้อย่างแน่นอน นอกจากนั้นผลการเลือกตั้งยังออกมา “ตามสคริปต์" เมื่อพรรคที่คว้าชัยไปครองคือพรรคยูเอสดีพี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทหารพม่า

หลายฝ่ายมองว่าการเลือกตั้งที่ “เตี๊ยม" กันมาเป็นอย่างดี ซึ่งรวมถึงการขัดขวางไม่ให้ซูจีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยได้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สามารถเรียกได้ว่าโปร่งใส ยุติธรรม และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงในสายตาของประชาคมโลก อาจพูดได้ว่าสิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าทำเป็นเพียงการลดกระแสกดดันจากทั่วโลกเท่านั้น การจัดการเลือกตั้งก็คล้ายกับต้องการสร้างภาพว่าพม่ากำลังเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ส่วนการปล่อยตัวซูจีก็เป็นการเบี่ยงเบนความสนใจของทั่วโลกจากการเลือกตั้งซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความโปร่งใส เมื่อพิจารณาแล้วดูเหมือนว่าทั้งการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี และการปล่อยตัวซูจีหลังจากที่ถูกกักขังมาเกือบตลอด 20 ปี อาจไม่ได้ทำให้พม่าเข้าใกล้ประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างที่หวัง

อีกประเด็นสำคัญที่น่าจะทำให้การหันหน้าเข้าหากันระหว่างนางซูจีและรัฐบาลทหารพม่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากยิ่งคือ การที่ซูจีออกมาประกาศหลังได้รับอิสรภาพว่า เธอและคณะกรรมการของพรรคเอ็นแอลดีจะตรวจสอบการโกงเลือกตั้ง และจะเปิดเผยรายงานเรื่องนี้ต่อสาธารณชนในไม่ช้า พร้อมกันนั้นเธอยังยืนยันว่าไม่กลัวถูกกักบริเวณอีก แม้รู้ดีว่ามีความเป็นไปได้ที่จะถูกกระทำเช่นนั้นก็ตาม ซึ่งการประกาศกร้าวเช่นนี้ถือเป็นการท้าทายและตบหน้ารัฐบาลทหารพม่าอย่างแรง

เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ต่างๆ และปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงแล้ว อิสรภาพของออง ซาน ซู จี ดูเหมือนว่าจะเป็นเพียงความสำเร็จในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น และมหากาพย์การเดินทางสู่ประชาธิปไตยในพม่าก็คงจะดำเนินไปอย่างยืดเยื้อยาวนานกว่าจะปิดม่านลง

ย้อนรอยเส้นทางการต่อสู้ของ ออง ซาน ซู จี

ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 พม่ากำลังตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและความวุ่นวายทางการเมือง ประชาชนไม่พอใจการปกครองระบอบเนวินและรวมตัวกันประท้วงกดดันจนนายพลเนวินต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า ที่ยึดอำนาจปกครองพม่ามานานถึง 26 ปี

8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 หรือราว 2 สัปดาห์หลังการลาออกของนายพลเนวิน ประชาชนนับล้านรวมตัวกันในย่างกุ้งเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และแผ่ขยายไปทั่วประเทศ ผู้นำทหารสั่งการให้ใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุม ทำให้ผู้ร่วมชุมนุมต้องสังเวยชีวิตไปหลายพันคน

15 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ออง ซาน ซูจี วัย 43 ปี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล เรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป และหลังจากนั้น 11 วันก็ได้กล่าวปราศรัยเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นครั้งแรกต่อหน้าฝูงชนประมาณ 500,000 คน

24 กันยายน พ.ศ. 2531 ออง ซาน ซูจี ได้ร่วมจัดตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 รัฐบาลเผด็จการสั่งกักบริเวณนางซูจีให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นครั้งแรกด้วยระยะเวลา 3 ปีโดยไม่มีข้อหา และจับกุมสมาชิกพรรคจำนวนมากไปคุมขัง

27 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 พรรคเอ็นแอลดีของเธอได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป แต่รัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้ และยื่นข้อเสนอให้นางซูจียุติบทบาททางการเมืองและเดินทางออกนอกประเทศไปใช้ชีวิตกับสามีและบุตร แต่นางปฏิเสธ รัฐบาลทหารจึงมีคำสั่งยืดเวลาการกักบริเวณเธอเป็น 5 ปี และเพิ่มอีก 1 ปีในเวลาต่อมา

14 ตุลาคม พ.ศ. 2534 ออง ซาน ซูจี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากคณะกรรมการโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์

10 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 นางซูจีได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณครั้งแรกแต่ก็ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐติดตามความเคลื่อนไหวตลอดเวลาจนไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ นอกจากนั้นยังถูกลอบทำร้ายบ่อยครั้งแม้จะมีกำลังตำรวจคอยคุ้มกันก็ตาม แต่นางก็ต่อสู้ด้วยสันติวิธีตลอดมา โดยใช้วิธีเขียนจดหมาย เขียนหนังสือ บันทึกวีดีโอเทป ออกสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง

21 กันยายน พ.ศ.2543 นางซูจีถูกกักบริเวณเป็นครั้งที่ 2 โดยปราศจากข้อกล่าวหาและความผิดเช่นเคย และได้รับอิสรภาพเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2545

30 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 เกิดเหตุปะทะระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลกับกลุ่มผู้สนับสนุนนางซูจี นางซูจีถูกกักบริเวณเป็นครั้งที่ 3 โดยรัฐบาลพม่าอ้างว่าจำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัยของนางซูจีเอง หลังจากนั้นรัฐบาลทหารพม่าก็ขยายระยะเวลาในการกักขังนางซูจีมาโดยตลอด

25 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ครบกำหนดการคุมขังนางซูจีตามกฎหมายความมั่นคงของพม่า แต่รัฐบาลพม่ายังประกาศขยายเวลากักขังนางต่อไปอีกปี

3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 หรือไม่ถึง 1 เดือนก่อนที่คำสั่งกักบริเวณของเธอจะสิ้นสุดลงในวันที่ 27 พฤษภาคม นายจอห์น วิลเลียม เยตทอว์ ชายชาวอเมริกันวัย 53 ปี ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบและลักลอบเข้าไปยังบ้านพักของนางซูจีในกรุงย่างกุ้ง เขาพักอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 2 วันและถูกจับกุมเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมขณะว่ายน้ำกลับออกมา ส่งผลให้นางซูจีถูกตั้งข้อหาละเมิดเงื่อนไขการกักบริเวณ

11 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ซูจีถูกตัดสินว่าฝ่าฝืนคำสั่งการกักบริเวณจริง และถูกตัดสินจำคุก 3 ปี แต่ได้รับการลดโทษเป็นการกักบริเวณเพิ่มอีก 18 เดือน

7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 พม่าจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี แต่พรรคเอ็นแอลดีของซูจีตัดสินใจคว่ำบาตรไม่ร่วมการเลือกตั้งโดยให้เหตุผลว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรมและไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ถูกยุบพรรคไปในที่สุด

13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวออง ซาน ซู จี ในที่สุด

สรุปแล้ว ออง ซาน ซู จี วัย 65 ปี ต้องโทษกักบริเวณในบ้านพักเป็นเวลานานถึง 15 ปี ตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ