นครบาลเตรียมมาตรการรับมือกลุ่มพธม.ชุมนุมค้านแก้รธน. ยึดตามประกาศ ศอฉ.

ข่าวการเมือง Sunday November 21, 2010 18:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เปิดเผยว่า ได้เตรียมมาตรการรับมือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่นัดชุมนุมใหญ่บริเวณหน้ารัฐสภา เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 23 พ.ย.53 โดยจะยึดตามประกาศของ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) 5 ข้อ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ปฏิบัติหลัก และเข้าควบคุมพื้นที่ตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (22 พ.ย.53) คือ 1.ห้ามไม่ให้มีการปิดการจราจร 2.ห้ามไม่ให้มีการขวางทางเข้าออกบริเวณโดยรอบรัฐสภา 3.ห้ามไม่ให้มีการโชว์ป้ายที่มีข้อความข่มขู่ และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อผู้อื่น 4.ห้ามไม่ให้มีการใช้เครื่องขยายเสียง หรือการพูดเพื่อยั่วยุให้เกิดการแตกแยก 5.ห้ามไม่ให้มีการล่วงละเมิดสถานบันพระมหากษัตริษย์ ไม่ว่าจะเป็นเสียง คำพูด หรือการชูป้ายประกาศต่างๆซึ่งทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอย่างเคร่งครัด

เบื้องต้นทาง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. และพล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบช.น. ได้มอบหมายให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 เป็นผู้ทำการเจรจาต่อรองกับกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย และจัดมีการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลที่บริเวณรัฐสภาตั้งแต่วันพรุ่งนี้ โดยให้ทางกองบังคับการตำรวจนครบาล1 เป็นผู้ดูแลในพื้นที่ก่อนจำนวน 1 กองร้อย หลังจากนั้นในช่วงเช้าของวันที่ 23 พ.ย.53 จะให้เจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด (ดีโอดี) บก.สปพ.บช.น. เข้าทำการตรวจสอบบริเวณโดยรอบรัฐสภาอย่างละเอียด พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ภายในรัฐสภา

ส่วนกำลังเจ้าหน้าที่นั้นจะเสริมหน่วยอื่นเข้าไปช่วยในระลอกแรกจำนวน 4 กองร้อย เพื่อให้ควบคุมดูแลบริเวณโดยรอบรัฐสภา ห้ามไม่ให้มีการปิดทางเข้าออกรัฐสภา รวมทั้งห้ามไม่ให้มีการปิดถนนบริเวณถนนอู่ทองในและถนนราชวิถี และให้มีกำลังเจ้าหน้าที่คอยสแตนบายเตรียมพร้อมอยู่ในที่ตั้งเพื่อเป็นกำลังเสริมในระลอกที่ 2 อีกจำนวน 6 กองร้อย และระลอกที่ 3 อีกจำนวน 10 กองร้อย รวมทั้งกำลังตำรวจหญิงอีก 1 กองร้อยร่วมด้วย ซึ่งกำลังตำรวจทั้งหมดจะคอยดูแลทางเข้าออกของรัฐสภาทุกด้าน บริเวณถนนโดยรอบรัฐสภาทั้งหมด รวมทั้งตามรั้วต่างๆ เพื่อป้องกันกลุ่มมือที่ 3 เข้ามาปั่นป่วนสร้างสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของทาง ศอฉ. เบื้องต้นยังไม่พบว่าจะมีกลุ่มมือที่ 3 เข้ามาปั่นป่วนสร้างสถานการณ์ แต่เจ้าหน้าที่ต้องไม่ประมาท มีการเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา และมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศปก.น.) อยู่ภายในอาคารรัฐสภา เพื่อประชุมควบคุมดูแลเหตุการณ์และดูแลความเรียบร้อยในภาพรวมตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งประสานเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐสภา เพื่อให้ช่วยดูแลอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังทาง บช.น. ยังได้ประสานไปยัง ศอฉ. เพื่อประสานขอกำลังทหารในการร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วย

ส่วนการขายสินค้าในที่ชุมนุม หากเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดความยั่วยุตามประกาศของ ศอฉ. เช่น เป็นสินค้ามีการเขียนข้อความคำด่าหรือคำพาดพิงถึงบุคคลอื่นนั้น ทางเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปเจรจาก่อนเพื่อแจ้งให้ทราบว่าสินค้านี้ผิดตามประกาศของ ศอฉ. และให้เลิกขายสินค้าดังกล่าว แต่ไม่ปฎิบัติตามจะมีการจับกุมดำเนินคดีต่อไป และเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้ใช้เครื่องขยายเสียงขนาดใหญ่ ที่ก่อให้เกิดความยั่วยุและก่อให้เกิดความวุ่นวาย เช่นเครื่องขยายเสียงติดรถ หรือเครื่องขยายเสียงที่ตั้งบนถนน และอื่นๆ เพราะอาจมีการพูดจาที่เป็นการยั่วยุ

โฆษก บช.น. กล่าวว่า ภาพรวมการชุมนุมของกลุ่ม พธม.คงจะไม่ยืดเยื้อ แต่หากมีการชุมนุมที่ยืดเยื้อ คงจะให้ทางเจ้าหน้าที่เข้าไปเจรจากับผู้ชุมนุมเพื่อให้สลายการชุมนุม แต่หากกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงยืนยันไม่ยอมกลับและมีการชุมนุมระยะยาว อาจจะใช้มาตรการกำหนดควบคุมพื้นที่ในบริเวณที่จำกัด เช่นอาจจะให้อยู่แต่บนฟุตบาท และจะเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมว่าขณะนี้ยังคงอยู่ในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งหากมีการกระทำผิดเกิดขึ้นก็อาจจะถูกจับกุมได้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ เรื่องการจัดแบ่งพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะผู้ชุมนุมอาจมีหลายกลุ่ม จึงต้องจัดแบ่งพื้นที่ให้กับกลุ่มต่างๆ มีเจ้าหน้าที่และรั้วกั้นระหว่างกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มผู้ชุมุนมอยู่แต่ในพื้นที่ของตนเอง เนื่องจากแต่ละกลุ่มอาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างจนทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันและเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ จึงต้องป้องกันเหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆที่จะเกิดขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ