การประชุมร่วมรัฐสภาเริ่มขึ้นแล้วในช่วงเช้าวันนี้ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) โดย นพ.เหวง โตจิราการ 2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 102 คน
3.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เฉพาะการแก้ไขในมาตรา 93-98 กรณีที่มาของส.ส. และการแบ่งเขตเลือกตั้ง และ 4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เฉพาะการแก้ไขในมาตรา 190 กรณีเรื่องการทำสัญญาที่มีผลผูกพันระหว่างประเทศจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอโดย คปพร.นั้น ประเด็นสำคัญ คือ ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญปี 50 เกือบทั้งฉบับ และให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 71,543 คน เป็นผู้เสนอในนามคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ซึ่งมี นพ.เหวง โตจิราการ เป็นผู้รวบรวมรายชื่อเสนอร่างในช่วงเดือนพ.ค.51
ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ส.102 คนพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นแกนนำรวบรวม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเสนอร่างภายหลังจากคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์เม.ย. 52 เสนอผลการศึกษาให้แก้ไข 6 ประเด็น แต่เสนอแก้ไขก่อน 2 ประเด็น คือ ระบบเลือกตั้งให้เป็น ส.ส.เขตเดียวเบอร์เดียว 400 คน ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ และมาตรา 190 ให้ออกกฎหมายลูกว่าด้วยการกำหนดประเภทขั้นตอนหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็นการเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายสมบัติ ธำรงค์ธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นประธาน ให้แก้ไขเฉพาะมาตรา 190 กรณีหนังสือหรือสนธิสัญญากรอบข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา
และ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ชุดที่นายสมบัติ เป็นประธานเช่นกัน โดยเป็นการแก้ไขเฉพาะมาตรา 93-98 เกี่ยวกับที่มาของส.ส.จาก 480 คน จะเพิ่มขึ้นเป็น 500 คน ให้เป็นเขตเดียวเบอร์เดียวจำนวน 375 คน และเป็นระบบบัญชีรายชื่อบัญชีเดียวทั้งประเทศ 125 คน
ทั้งนี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 ฉบับ โดยมีกรอบการพิจารณารวม 2 วัน คือ 23-24 พ.ย. และจะลงมติในวันที่ 25 พ.ย.