นายกฯเชื่อ 2 ประเด็นเสนอแก้รธน.ไม่นำไปสู่ขัดแย้ง,"สุนัย"ย้ำ พท.ไม่รับ

ข่าวการเมือง Tuesday November 23, 2010 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงหลักการของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ....จำนวน 2 ฉบับ ต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาว่า รัฐบาลเสนอแก้ไขมาตรา 190 เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติ ในประเภทของการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ส่วนมาตรา 93-98 เรื่องที่มาของ ส.ส. รัฐบาลเห็นว่าควรแก้ไขตามข้อเสนอของคณะกรรมการศึกษาชุดที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญญาวงศ์ ได้ศึกษาจุดแข็งจุดอ่อนของการเลือกตั้งอย่างละเอียดและพบว่าการเลือกแบบเขตเดียวเบอร์เดียว มีความเป็นธรรมตามหลักสากล แต่เพื่อป้องกันการซื้อเสียง จึงขอให้ลดเขตการเลือกตั้งจาก 400 เขต เหลือ 375 เขต และเพิ่มจำนวน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อจาก 100 คน เป็น 125 คน เพื่อให้สัดส่วนของ ส.ส.ในสภาสะท้อนการแข่งขันระดับชาติ

"การแก้ไขมาตราดังกล่าว ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์กับนักการเมือง รวมทั้งมั่นใจไม่ทำให้เกิดความขัดแย้ง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ขณะที่ นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ตั้งแต่ใช้มาไม่เคยเกิดความสงบเลย และยังทำลายโครงสร้างสำคัญๆในประเทศคือ 1.ความศรัทธาของศาลดึงระบบศาลมาติดคุกในระบบการเมือง 2. ทำลายระบบพรรคการเมือง เช่น การซื้อตัว ส.ส.โหวตได้ 3.ทำลายระบบ ส.ส.ปิดโอกาสในการทำหน้าหน้าที่ช่วยประชาชน และ 4. ทำลายระบบการกระจายอำนาจ เพราะตัดเม็ดเงินกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น 35% ออกทั้งหมด

นอกจากนี้ การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็นของฝ่ายรัฐบาลก็ขัดแย้งกันเองโดยเฉพาะใน มาตรา 190 ที่เคยโจมตีว่าเป็นเพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปทำสัญญาต่างประเทศ ประชาชนไม่รู้เรื่องจึงเป็นเหตุให้ยึดอำนาจ แล้วเพราะเหตุใด จึงมาแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว

"ทำให้รู้สึกสงสัยว่าเหตุใด นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเคยเป็นผู้ริ่เริ่มให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมาครั้งนี้ กลับเสนอแก้ไขเพียงแค่สองประเด็นทั้งที่จริงควรจะสนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 40 ทั้งฉบับ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 40 ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด...ขอให้รัฐบาลจงตื่นแล้วเอาร่างฉบับประชาชนไปผนวกรวมทั้ง 4 ฉบับ หรือจะนำทั้ง 4 ฉบับออกมาก่อนแล้วเสนอเข้าไปใหม่"นายสุนัย กล่าว

ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทยไม่สามารถรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ทั้ง 2 ฉบับที่รัฐบาลเสนอได้ เนื่องจากมีสาระสำคัญที่เป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์เพื่อนักการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อีกทั้งประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไข และยังเป็นการทำลายระบบโครงสร้างการปกครอง โดยหากรัฐบาลยังยืนยันจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เห็นว่าควรเลื่อนการพิจารณาออกไป และเสนอใหม่ในการประชุมสมัยหน้า เพื่อให้เลยวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพราะอาจทำให้เกิดบรรยากาศความขัดแย้งขึ้นในสังคม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ