นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มีความเป็นห่วงจะทำให้เสียดินแดน ว่า ตนไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงอะไรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
"การผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ต้องการลดความขัดแย้งทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขมาตรา 190 ไม่ได้เป็นการแก้ไขเพื่อให้ไทยต้องเสียดินแดนให้ใครแต่อย่างใด"
"ปมรัฐธรรมนูญเหมือนกับเป็นปมที่ค้างคากันอยู่ และพร้อมที่จะเป็นระเบิดเวลาที่จะเป็นปมของความขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา ผมเห็นว่ามันเป็นความรับผิดชอบในการที่เราจะต้องคลี่คลายเรื่องนี้ นั่นคือเหตุผลที่ในช่วงที่เราตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ มาทำงานในแผนปรองดอง"
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีอีก 2 ร่างที่พิจารณากัน คือ 2 ร่างนั้นของรัฐบาล รัฐสภาได้รับหลักการ อีก 2 ร่าง 1.เป็นร่างของ คปพร. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550) คือประชาชนเข้าชื่อกันมา คุณหมอเหวงก็เป็นหนึ่งในผู้นำที่เสนอมา ฉบับนี้เป็นฉบับที่ผิวเผินก็คือเอารัฐธรรมนูญปี 40 มาสวมแทน แล้วขณะเดียวกันมีบทเฉพาะกาล ซึ่งจะถูกตีความกันได้ว่าจะเกิดปัญหาเรื่องการนิรโทษกรรมหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นปมประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งสูงมาก เมื่อปี 2551 ตอนนั้นที่มีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาเคลื่อนไหวค่อนข้างจะมาก เพราะฉะนั้น ประเด็นนี้ก็เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่เหมือนกัน
"ร่างมาตรา 190 ปัญหามันมีอยู่ว่าทำไมร่างที่รัฐบาลเสนอต่อสภาฯ จึงแยกเอาวรรค 2 ซึ่งเป็นการแยกสนธิสัญญา 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 เกี่ยวข้องกับดินแดนของรัฐ อำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนของรัฐ และที่ต้องไปอนุวัติกฎหมายในประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาระหว่างประเทศ เป็นวรรคที่ 2 แต่วรรคที่ 3 คือแยกเอาเรื่องสนธิสัญญาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม หรือว่าการใช้งบประมาณที่มีนัยยะสำคัญ ก็เลยได้ความออกมาอย่างที่คุณคำนูณ สิทธิสมาน อภิปรายในสภาฯ ว่าเฉพาะส่วนที่เศรษฐกิจ สังคม และงบประมาณที่มีนัยยะสำคัญเท่านั้น ต้องผ่านกระบวนการในการรับฟังความเห็น ในการเยียวยา ในการขอกรอบการเจรจาจากรัฐสภา แต่ว่าส่วนแรกหลุดไปเลยเรื่องเขตแดน เรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือเขตแดน ตรงนี้จะอธิบายอย่างไร
"ประเด็นแรกเลยหลักการของการแก้ไข หัวใจอยู่ที่การที่จะเปิดโอกาสให้มีกฎหมายลูกออกมากำหนดประเภทของหนังสือสัญญา อันนี้คือเรื่องเดียว เรื่องหลักเลยที่จะทำ เพราะว่าปัญหาที่ผ่านมา คือว่ามันไม่มีความชัดเจน และก็ไม่มีใครที่จะไปชี้ได้ว่าเวลาหนังสือสัญญาที่มันจะกระทบกระเทือนทางเศรษฐกิจ หรืออะไร แต่มีนัยยะสำคัญ แค่ไหนอย่างไร พูดตรง ๆ หน่วยงานราชการจะกลัวกันมาก ปัจจุบันเอาว่าปลอดภัยไว้ก่อน เสนอมาให้สภาฯ และทำให้มีความล่าช้าในการดำเนินการ อันนี้คือหลักการที่เสนอมา ทีนี้วิธีทำงาน คณะกรรมการเสนอหลักการมา ครม. ก็อนุมัติหลักการ แล้วก็ได้มอบให้คณะกรรมการไปจัดทำร่าง โดยทางกฤษฎีกาไปช่วย ร่างกลับมาอย่างไร ครม.เสนออย่างนั้น เพราะผมได้ยืนยันตั้งแต่ต้นว่างานนี้มันไม่ใช่ความต้องการที่จะมาเจาะจงว่า รัฐบาลอยากจะให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ มิฉะนั้นผมบอกตรง ๆ เรื่องเขตเลือกตั้ง ถ้าพูดกันไปแล้ว คนที่อยากจะได้เขตละคน ก็ไม่อยากได้สัดส่วนเพิ่มขึ้นก็มีเยอะแยะไป ถ้ามาเริ่มเถียงกันในรายละเอียดหมด สรุปก็จะไม่ใช่ร่างของคณะกรรมการอิสระ เราก็เลยบอกว่าเสนอมาอย่างไร เราก็จะเสนอเข้าไปอย่างนั้น"