องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ในวันนี้เวลา 9.00 น.เพื่อรับฟังการแถลงปิดคดียุบพรรคประชาธิปัตย์จากคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ในฐานะผู้ร้อง และฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะผู้ถูกร้องโดยมีเวลาฝ่ายละ 30 นาที
ประเด็นแรกที่ต้องลุ้นกันในวันนี้ คือ คณะตุลาการฯ จะมีคำวินิจฉัยในวันนี้ภายหลังการแถลงปิดคดีหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการพิจารณาเพียงข้อกฎหมายก็สามารถทำความเห็นสรุปได้ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อกฎหมายแล้วต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงด้วย การตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์อาจจะต้องใช้เวลาวินิจฉัยมากขึ้น ซึ่งทางฝ่ายประชาธิปัตย์ลุ้นให้การพิจารณาเป็นไปตามข้อกฎหมายเท่านั้น เพราะหวังว่าจะมีทางรอดจากคดีมากกว่า
ประเด็นที่ 2 ก็คือ หากมีการวินิจฉัยวันนี้ เสียงของตุลาการฯจะเป็นอย่างไร กระแสข่าวที่ถูกปล่อยออกมาระบุว่าคะแนนจะเท่ากัน 3 ต่อ 3 หลังจากองค์คณะเหลือเพียง 6 คน จากเดิมที่มีอยู่ 9 คน เมื่อตุลาการทยอยถอนตัวจากคดีจนเหลือเพีนง นายชัช ชลวร, นายบุญส่ง กุลบุปผา, นายจรัญ ภักดีธนากุล, นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นายสุพล ไข่มุกด์ และ นายนุรักษ์ มาประณีต ซึ่งล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นายจรูญ อินทจาร ถอนตัวออกจากการเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องขอ
ขณะที่ นายทศพล เพ็งส้ม ส.ส.นนทบุรี ทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่า หากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาคะแนนเท่ากัน 3 ต่อ 3 เสียงก็ต้องยกคำร้อง เพราะการตัดสินต้องใช้เสียงข้างมาก และตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนมีได้เพียง 1 ความเห็น และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญข้อที่ 24 ซึ่งออกตามออกตามรัฐธรรมนูญมาตรา 216 กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 1 เสียงมี 1 ความเห็นเท่านั้น ดังนั้น การให้ประธานศาลรัฐ ธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดไม่น่าจะทำได้ เพราะหากทำเช่นนั้นเท่ากับประธานศาลรัฐธรรมนูญมี 2 ความเห็นถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ
หาก 3:3 จะเกิดอะไรขึ้น?
*ประเด็นฟ้องยุบพรรค-บุคคลที่เกี่ยวข้อง
คดียุบพรรคประชาธิปัตย์เป็นผลมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เสนอให้กกต.ตรวจสอบการกระทำของพรรคประชาธิปัตย์จาก 2 กรณีคือ 1.พรรคประชาธิปัตย์รับเงินบริจาคจาก บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL)ผ่านบริษัท เมสไซอะ บิสซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด เป็นจำนวนเงิน 258 ล้านบาท โดยทำสัญญาว่าจ้างจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นนิติกรรมอำพราง และถือว่าผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 66 (2) และ (3) ประกอบมาตรา 94 (3) (4) (5) พ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2550 เป็นการฟ้องต่อกรรมการบริหารพรรคชุดที่มีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรค และนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรองหัวหน้าพรรค คดีนี้เกิดขึ้นช่วงปี 2547-2548
2.พรรคประชาธิปัตย์ไม่ใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองจาก กกต.จำนวน 29 ล้านบาท ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายและไม่ยื่นบัญชีต่อ กกต. ขัดต่อ พ.ร.บ.พรรคการเมืองพ.ศ.2541 มาตรา 62 และ 65 ประกอบด้วยมาตรา 82 และ 93 แห่ง พ.ร.บพรรคการเมือง พ.ศ.2550 โดยคดีนี้เป็นการฟ้องร้องต่อกรรมการบริหารพรรคชุดปี 2548 ที่มีนายอภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค และได้เซ็นรับรองบัญชีการใช้จ่ายเงินดังกล่าว หลังจากที่มารับตำแหน่งต่อจากนายบัญญัติ ที่ได้แสดงสปิริตลาออกหลังจากที่ทางพรรคแพ้เลือกตั้งให้แก่พรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2548
สำหรับการต่อสู้คดีของฝ่าย กกต.และพรรคประชาธิปัตย์ จะอยู่ภายใต้กรอบ 5 ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งไว้ ประกอบด้วย 1. กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 2.การกระทำของพรรคประชาธิปัตย์ตามคำร้องอยู่ในบังคับพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 3.พรรคประชาธิปัตย์ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในปี 2548 เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือไม่
4.พรรคประชาธิปัตย์จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองปี 2548 ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ 5.กรณีมีเหตุให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคจะต้องถูกตัดสิทธิ หรือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 หรือประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.)ฉบับที่ 27 เรื่องการแก้ไขประกาศคปค.ฉบับที่ 15 ลงวันที่ 21 กันยายน 2549 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 หรือพ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 หรือไม่ อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในกรณีที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใด จะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคนาน 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 68 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 237 วรรค 2
ทั้ง 2 คดี กกต.มีมติว่าพรรคประชาธิปัตย์ผิด ซึ่งจากการวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมืองที่ผ่านมา 29 พรรค ตุลาการรัฐธรรมนูญมักคล้อยตาม เห็นดีเห็นงามตาม กกต. และหากจะตัดสินไปถึงกรรมการบริหารพรรคตามเนื้อผ้าก็ต้องว่ากันไปถึงบุคคลหลัก ๆ ซึ่งได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รองเลขาธิการพรรค
การวินิจฉัยคดียุบพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันหรือไม่?