ดุสิตโพล เผยปชช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับคำตัดสินศาลฯ-มองแนวโน้มแตกแยกรุนแรงขึ้น

ข่าวการเมือง Tuesday November 30, 2010 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สวนดุสิตโพล" ได้สอบถามความคิดเห็นจากประชาชนที่สนใจติดตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการใช้เงินกองทุนฯ 29 ล้านบาท ของพรรคประชาธิปัตย์ ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินออกมา โดยส่วนใหญ่ 46.15% เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลฯ เพราะเชื่อมั่นในกระบวนการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ, ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่านล้วนมีประสบการณ์ในการตัดสินคดีสำคัญๆต่างๆมามาก,ทางหัวหน้าทีมของพรรค ปชป. ก็ได้ออกมาชี้แจงถึงการนำเงินไปใช้ในเรื่องต่างๆหมดแล้วอย่างชัดเจน ฯลฯ

ขณะที่ 33.84% มองว่าไม่เห็นด้วย เพราะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจได้รับความกดดันจากหลายๆปัจจัย ,เป็นการตัดสินแบบ 2 มาตรฐาน ,อาจมีการแทรกแซงในกระบวนการพิจารณาของศาล ฯลฯ และ 20.01% เฉยๆ เพราะการตัดสินครั้งนี้มีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ เป็นสิ่งที่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่สุดท้ายก็ต้องเคารพคำตัดสินของศาล ,เป็นเรื่องปกติของการเมืองไทย ฯลฯ

นอกจากนี้ 40.23% มองว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับและเคารพในคำตัดสินของศาล, 26.91% มองว่าเป็นไปตามคาดที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกยุบ /ทางพรรคมีการเตรียมการมาอย่างดี และมีคุณชวนเป็นหัวหน้าทีมกฎหมาย, 23.47% เห็นต่างกับคำตัดสินของศาล /เหตุผลในการยกคำร้องที่มาจากการส่งคำร้องล่าช้ากว่ากำหนดไม่สมเหตุสมผล ขณะที่ 9.39% มองว่า เป็นคดีที่ยืดเยื้อมานานและได้ข้อยุติลงแล้ว /ควรปล่อยให้รัฐบาลเดินหน้าบริหารบ้านเมืองต่อไป

ในส่วนของผลสำรวจสถานการณ์การเมืองต่อไปจะเป็นอย่างไร 36.29% มองว่า การเมืองไทยก็ยังคงมีความแตกแยก แบ่งฝักแบ่งฝ่ายเหมือนเดิม และมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้น และ 25.11% มองว่า รัฐบาลคงต้องประคับประคองตัวเองในการบริหารบ้านเมืองจนครบวาระ / เดินหน้าสานต่องานต่างๆ ที่ทำไว้ให้เสร็จสิ้น, 18.32% มองว่าต่างฝ่ายต่างต้องระมัดระวังและรอบคอบในการทำงานมากขึ้น หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำก็อาจถูกนำมาเป็นประเด็นใหม่ทางการเมืองได้ /เกมการเมือง และ 13.26% มองว่า การเมืองไทยถูกมองว่าเป็นระบบ 2 มาตรฐาน ,การตัดสินครั้งนี้อาจเป็นข้อกังขาให้ต้องขบคิดกันต่อไป

จากกรณีที่เกิดขึ้นประชาชนได้รับบทเรียนอะไรบ้าง ผลสำรวจส่วนใหญ่บอกว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ และรองลงมาคือ การทำงานต้องมีความซื่อสัตย์ โปร่งใสและตรวจสอบได้, การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางการเมือง และสุดท้ายประชาชนควรหันมาสนใจและศึกษากฎหมายให้มากขึ้นเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง

ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนที่จำนวนทั้งสิ้น 1,041 คน ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ