นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) กล่าวบรรยายพิเศษหัวข้อ “แนวทางการปฏิรูปประเทศไทย" ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2553 “การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ"ว่า การปฏิรูปไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทุกประวัติศาสตร์ของสังคมโลกล้วนเคยมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นแล้วทั้งนั้น ซึ่งมีทั้งสำเร็จและไม่สำเร็จ สิ่งหนึ่งที่ต้องปรับความคิดของสังคมคือ เมืองไทยไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด และไม่ได้เลวร้ายอยู่ประเทศเดียว ประเทศอื่นก็มีความไม่ยุติธรรมเช่นกัน
เมื่อพูดถึงการปฏิรูปและปฏิวัติ มีแนวคิดคล้ายกันแต่วิธีการต่างกันโดยสิ้นเชิง ที่ผ่านมาเมื่อเกิดการปฏิวัติ ทหารก็ออกมาใช้กำลังในการบริหารประเทศ ท้ายที่สุดก็กลับไปอยู่ในรูปแบบเดิม ดังนั้นคนไทยต้องลืมไปเสียทีเรื่องการยุติปัญหาด้วยการปฏิวัติ ไม่ใช่ทางออก เพราะการปฏิวัติเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาว
ขณะที่การปฏิรูปไม่สามารถกำหนดกรอบ 3 ปี 6 ปีได้ การปฏิรูปต้องเกิดขึ้นทั้งระบบการศึกษา กฏเกณฑ์ และโครงสร้าง ฯลฯ เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ทุกคนต้องรู้ว่ากระบวนการปฏิรูปไม่มีทางเสร็จสิ้น ต้องไม่ขึ้นอยู่กับวาระใดๆ ต้องเดินต่อไปเรื่อยๆ
"ทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูป คงไม่ใช่ฝีมือของรัฐบาล หรือคณะปฏิรูปทั้ง 2 คณะเพียงอย่างเดียว หากแต่ทุกคนต้องเริ่มจากปฏิรูปวิธีคิดของตัวเอง ทำความเข้าใจกันใหม่ว่าความยุติธรรมอยู่ตรงไหน ทำอย่างไรให้ลดน้อยลง คนที่จะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน"
ที่ผ่านมา โครงสร้างสังคมของไทยเป็นแบบกระจุกตัวของแหล่งเงินทุน อำนาจ อิทธิพล ฯลฯ ซึ่งทุกสิ่งถูกรวบรวมอยู่ในกรุงเทพฯ และวิสัยตามธรรมชาติของมนุษย์ นั้นยังไม่รู้จักคำว่าพอ ยิ่งแสวงหาเพิ่มขึ้นไปอีก เหล่านี้เองที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม และมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ หากทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคมวงกว้างได้ ความเหลื่อมล้ำจะลดลง สิทธิขั้นพื้นฐานจะเพิ่มขึ้น อันนำมาสู่การกินดีอยู่ดีของประชาชน
สังคมไทยกระจายอำนาจไปไม่ถึงมือประชาชน เพราะที่ผ่านมารัฐบาลกลางกระจายอำนาจจริง แต่กระจายไปสู่หน่วยงานในจังหวัดต่างๆ ซึ่งไปไม่ถึงตัวคนคนท้องถิ่น ดังนั้นหลังจากนี้หากพูดถึงการกระจายอำนาจ ต้องทำให้แน่ใจว่า ได้กระจายอำนาจไปถึงใครบ้าง
"การปกครองแบบประชาธิปไตย โดยประชาชน เพื่อประชาชน ต้องเพิ่มอำนาจประชาชน เราพูดกันมาหลายสิบปี แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เหมือนการสวดมนต์ที่ท่องได้ จำได้ แต่ไม่เคยปฏิบัติจริง" นายอานันท์ กล่าว
นายอานันท์ กล่าวว่า คปร. มีการเสนอแนวคิดให้เริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิดกันเสียก่อน เช่นเรื่องทรัพยากรธรรมชาติใต้ดิน หรือแม้แต่วิทยุชุมชน คนท้องถิ่นต้องมีส่วนในความเป็นเจ้าของร่วมกัน ดังนั้นเมื่อเป็นสมบัติสาธารณะ รายได้จากการเก็บค่าสัมปทาน ภาษี หรืออะไรก็ตามที่ได้จากสิ่งนั้น ประชาชนต้องได้รับส่วนแบ่งมากกว่าที่เคยเป็นมา