เลขาธิการ กมม.ห่วงนายกฯส่งสัญญาณยุบสภา หวั่นเกิดสูญญากาศการบริหารปท.

ข่าวการเมือง Sunday December 12, 2010 16:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (กมม.) เปิดเผยว่า จากการที่นายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณการยุบสภาในอีก 4-5 เดือน และให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น แม้ พรรค กมม.จะเห็นด้วยกับช่วงเวลายุบสภาของนายกรัฐมนตรี และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงกลางปีหน้าเพื่อคลี่คลายบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมือง แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ช่วงเวลาดังกล่าวเกิดสุญญากาศหรือความไม่เป็นเอกภาพในการบริหารงาน โดยเฉพาะอาจเกิดการลอยแพคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย หรือคณะกรรมชุดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งนายกฯ ต้องมีคำตอบให้กับความแน่นอนในการทำงานของคณะกรรมการชุดต่างๆ

แม้การส่งสัญญาณยุบสภาในอีก 4-5 เดือน เป็นสิทธิของนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจในการยุบ แต่ถือเป็นเรื่องผิดปกติ ไม่เคยเกิดขึ้น และอาจส่งผลเสียหายต่อการบริหารแผ่นดินของรัฐบาลตามมา เพราะจะส่งผลให้บรรดาข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐเฉื่อยงานและไม่สนองนโยบายของฝ่ายการเมือง จนเกิดความไร้ระเบียบ เพราะอำนาจรัฐอาจเปลี่ยนมือทำให้ข้าราชการต้องสงวนท่าทีเพื่อรอนายคนใหม่

การส่งสัญญาณยุบสภาเป็นกุศโลบายทางการเมืองที่อาจต้องการลดแรงต้านหรือการเคลื่อนไหวโจมตีรัฐบาลของกลุ่มต่างๆ ดึงความสนใจของสังคมไปอยู่ที่สนามเลือกตั้ง แทนการบริหารที่บกพร่องของรัฐบาล โดยเฉพาะการทุจริตคอรัปชั่นที่สังคมเริ่มค้นพบและมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่โปร่งใสในการทำงานของรัฐบาลและพรรคร่วมมากขึ้น และเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่รับผิดชอบแต่ละกระทรวงก็จะใช้โอกาสนี้ในการเร่งอนุมัติโครงการต่างๆ เพื่อสะสมทุนเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นช่วงที่สังคมต้องจับตาการทุจริตคอรัปชั่นเป็นพิเศษ

เลขาธิการพรรค กมม. กล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ โดยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญ และ คณะกรรมการเลือกตั้ง ถือเอากรณีเป็นบทเรียน เพื่อยกระดับศรัทธาและความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องเร่งหาทางตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวหาศาลรัฐธรรมนูญถึงความไม่โปร่งใสในการบริหารงาน จนถูกนำมาขยายในคลิปหลายชุดให้เกิดความชัดเจนโดยเร็ว เพราะสังคมยังมีความคลางแคลงใจ นอกจากนี้จะต้องปรับปรุงระเบียบและวิธีพิจารณาวินิจฉัยคดี เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือมากกว่านี้ เพราะกรณียกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ทั้ง 2 คดี โดยเลือกวินิจฉัยข้อกฎหมาย ไม่วินิจฉัยข้อเท็จจริง ทั้งๆ ที่มีการไต่สวนนำสืบบนศาลกันไปตั้งไกลแล้ว ทำให้สังคมเสียโอกาสที่จะได้รับรู้ว่าใครผิดถูก จนเกิดความเคลือบแคลงสงสัยกันไปทั่ว

ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องปรับกระบวนการทำงานให้มีความเป็นเอกภาพในการพิจารณาคดี โดยเฉพาะคดีสำคัญๆ อย่างคดียุบพรรค เป็นต้น ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนมติส่งฟ้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนหนึ่งมาจากการชุมนุมกดดันข่มขู่ของคนเสื้อแดงก็ตาม แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้นเหตุปัญหาสำคัญประการหนึ่งก็มาจากความไม่เป็นเอกภาพใน 5 เสือ กตต.ที่แบ่งฝ่ายจนสังคมรู้สึกได้ถึงความสัมพันธ์ทางการเมือง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ