นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การเสนอขึ้นเงินเดือนนักการเมืองเพื่อให้สอดคล้องกับการขึ้นเงินเดือนทั้งระบบ ซึ่ง หากมองประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานรัฐสภา มีศักดิ์มีศรีเทียบเท่ากับประธานธานศาลฎีกา และนายกรัฐมนตรี ค่าตอบแทนจะต้องแปลตามกัน แม้อาจไม่ชอบตัวบุคคลหรือกลุ่มบุคคล แต่ต้องคิดถึงสถาบัน ส่วนการเสนอปรับขึ้นเงินเดือนในอัตรา 14.7% เหมาะสมหรือไม่ ต้องรอให้คณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติชี้แจงในเรื่องนี้
ส่วนสิทธิการรักษาพยาบาลเท่ากับข้าราชการ เป็นข้อเสนอของสภา เนื่องจากเห็นว่ามีสิทธิน้อยมาก โดยเฉพาะการประกันสุขภาพ รวมถึงสิทธิในการเดินทาง ซึ่งจะพิจารณาควบคู่กัน ส่วน เรื่องระบบก็ส่วนหนึ่ง ส่วนที่ถูกมองประสิทธิภาพของนักการเมืองคุ้มค่ากับการขึ้นเงินเดือนครั้งนี้หรือไม่ คงบอกยาก แต่เห็นมีนักการเมืองอีกหลายคนที่ทำงานหนักกว่าเงินเดือน และที่น่าเป็นห่วง คือ นักการเมืองสุจริต คนที่เป็น ส.ส.บั้นปลายชีวิตไม่มีหลักประกัน ดังนั้นต้องมองเรื่องนี้ทั้งสองด้าน
"อยากจะย้ำอีกครั้งว่าเรื่องค่าตอบแทนเป็นเรื่องของการยึดโยงของระบบ และเราจะระมัดระวังไม่ให้เป็นเรื่องที่จะมาอนุมัติให้กับตนเอง...ถ้าเราจะบอกว่าคนมาเป็นนักการเมืองเงินเดือนต้องอยู่กับที่ตลอดเวลาก็จะเป็นเรื่องแปลกอยู่ เราไม่ได้ให้อะไรเป็นพิเศษ และเราไม่ได้ให้กับตัวเอง แต่มันเป็นเรื่องของระบบ ถ้าไม่งั้นต่อไปเราต้องบอกแล้วว่าฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีสิทธิ์เหมือนคนอื่น ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายบริหาร มีสิทธิ์ปรับเงินเดือนขึ้น ฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีสิทธิ์ปรับค่าตอบแทนมันก็กระไรอยู่" นายกรัฐมนตรี กล่าว
สำหรับการที่นักวิชาการเสนอให้ทำดัชนีชี้วัดผลงานการพิจารณาขึ้นเงินเดือนของนักการเมืองให้เหมือนกับที่ข้าราชการ คงไม่ใช่เรื่องง่าย และจะหาใครจะเป็นคนวัดผล เช่น ผู้ที่มาเซ็นชื่อกับคนที่นั่งประชุมกันจริงๆ ไม่สามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลา ดังนั้นขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบ คนที่เป็นนักการเมือง โดยเฉพาะ ส.ส.และ ส.ว.มีวาระจำกัด และจะต้องถูกตรวจสอบ ถูกห้ามไม่ให้ประกอบอาชีพอื่น เพราไม่ต้องการให้มีผลประโยชน์ขัดกัน ดังนั้นจึงต้องพิจารณาตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม การเสนอขึ้นเงินเดือนนักการเมือง นั้นในการประชุม ครม.วันที่ 14 ธ.ค. จะมีการพิจารณาการขึ้นเงินเดือนทั้งระบบ รวมถึงองค์กรอิสระด้วย โดยยืนยันการขึ้นเงินเดือนจะยึดโยงตามระบบกับสถาบัน ไม่ได้ยึดตัวบุคคล