นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ชี้แจงกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติปรับขึ้นค่าตอบแทนให้ ส.ส.- ส.ว.รวมทั้งข้าราชการการเมือง เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลแล้ว ไม่ได้ทำเพื่อหวังผลทางการเมืองหรือประโยชน์ของพวกพ้องตัวเอง
"ตั้งแต่ปี 2548-2550 ข้าราชการประจำ ฝ่ายบริหาร ได้ปรับขึ้นครั้งละ 4-5% แต่ฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ปรับขึ้นตาม ดังนั้นเมื่ออนุมัติให้ขึ้นเงินเดือน ส.ส.-ส.ว.ครั้งนี้จึงดูว่าเป็นจำนวนมาก แต่โดยข้อเท็จจริงแล้วเป็นการปรับเพื่อให้เท่ากันตามหลักการคือ ผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ต้องมีเงินเดือนเท่ากัน ส่วนตำแหน่งอื่นก็ลดหลั่นกันตามลำดับ แต่ให้มีผลหลังการเลือกตั้งทั่วไป" นายสุเทพ กล่าว
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่า ส.ส.และ ส.ว.ไม่ยอมทำงานให้คุ้มกับค่าตอบแทนจนเกิดปัญหาสภาฯ ล่มบ่อยครั้งนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาฯ ล่มมีหลายสาเหตุ หลายครั้งเป็นความจงใจที่จะให้ล่ม เพราะ ส.ส.หรือ ส.ว.บางคนอยู่ในที่ประชุม แต่ไม่แสดงตน หรือประท้วงไม่ยอมให้นับองค์ประชุม ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้เป็นการแก้ตัว เพราะฝ่ายรัฐบาลมีหน้าที่ต้องให้คนของตัวเองมาประชุมให้ครบ แต่ก็มีเหตุที่ต้องขาดหรือลาประชุม
"เมื่อสังคมวิจารณ์ให้ได้ยินชัดเจน ส.ส.และ ส.ว.คงต้องตระหนัก การเล่นเกม หรือประท้วงในสภาฯ คงไม่ใช่วิธีการที่ต้องทำต่อไป เพราะกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนว่าไม่ทำงาน" นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ตนเองพยายามพูดคุยกับทุกพรรคให้เข้าประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน และบรรยากาศก็เริ่มดีขึ้น สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส.ขาดประชุมนั้น ตนเองได้ดูแล และตักเตือนตลอด หาก ส.ส.คนไหนขาดประชุมบ่อย การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคจะไม่ส่งลงสมัคร
ส่วนกรณีที่มีผู้เสนอให้ออกข้อกำหนดให้ตัดเงินเดือน ส.ส.ที่ไม่เข้าประชุมนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้ ส.ส.ไปหารือกันเอง เพราะมีข้อกำหนดอยู่แล้วว่า หากขาดประชุมเกินจำนวนต้องมีบทลงโทษ ทั้งนี้ประชาชนต้องตั้งหลักและช่วยกันเลือกให้ดี อีกไม่นานก็จะมีการเลือกตั้งแล้ว อย่าเลือก ส.ส.ที่ขาดประชุมเข้าไปทำหน้าที่
นายสุเทพ ปฏิเสธว่า การอนุมัติปรับขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ ไม่ได้ทำไปเพื่อหวังผลในการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป และไม่กังวลว่าจะเกิดปัญหาระบบเศรษฐกิจเสียหายเหมือนในต่างประเทศหากรัฐบายดำเนินนโยบายประชานิยมมากเกินไป เพราะรัฐบาลทำอย่างมีเหตุผล และเป็นเรื่องที่จำเป็น เช่น การเรียนฟรีที่เป็นประโยชน์กับประชาชน
"คนที่ตั้งข้อสังเกตคงมองในแง่ร้ายเกินไป หลักในการปรับขึ้นเงินเดือนนั้นหากประชาชนมีรายได้ดีก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยในช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีนโยบายเพิ่มรายได้ ทำให้เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น" นายสุเทพ กล่าว